(เพิ่มเติม1) พาณิชย์ เผยยอดส่งออก เม.ย.60 โต 8.5% นำเข้าโต 13.4% เกินดุล 56.8 ล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 22, 2017 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน เม.ย.60 การส่งออกมีมูลค่า 16,864 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 8.5% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,808 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 13.4% ส่งผลให้ดุลการค้า เม.ย.เกินดุล 56.8 ล้านดอลลาร์ สรอ.

ทั้งนี้ส่งผลให้ภาวะการค้าระหว่างประเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 73,321 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 5.7% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 69,211 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 14.5% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลรวม 4,110 ล้านดอลลาร์ สรอ.

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงวัฏจักรการฟื้นตัวมีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยสัดส่วนตลาดที่ขยายตัวคิดเป็น 85.4% ของตลาดทั้งหมด ในขณะที่ตลาดอื่นๆมี แนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อาทิตลาดตะวันออกลางที่หดตัวต่ำสุดในรอบ 8 เดือน และสหภาพยุโรปที่กลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

ทั้งนี้คาดว่าการหดตัวของสหภาพยุโรปจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจของยุโรปยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ สำหรับการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัว 1.8% โดยการส่งออกไปสหรัฐฯและญี่ปุ่น ขยายตัว 3.5% และ 3.3% ตามลำดับ

"ภาพรวมการส่งออกไทยเดือนเม.ย.60 ยังคงขยายตัวระดับสูงต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่ 8.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 16,864 ล้านดอลลาร์สรอ. ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกขยายตัวในเกือบทุกตลาด (ยกเว้นสหภาพยุโรปและตะวันออกกลาง) และในทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่เติบโตต่อเนื่องทั้งในด้านราคาและปริมาณ อาทิ ยางพารา น้ำตาลทราย ข้าว และ อาหาร ทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ในขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเฉพาะ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์เหล็ก สะท้อนถึงศักยภาพในการแข่งขันและ ความสามารถในการปรับตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น"น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่าในเดือนเม.ย. 60 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่หก ที่11.9% (YoY) โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา ขยายตัว 41.1% (โดยส่งออกไปตลาดจีน มาเลเซียและญี่ปุ่น) น้ำตาลทราย ขยายตัว 47.0% (ส่งออกไปตลาดอินโดนีเซีย ไต้หวัน และกัมพูชา) ข้าว ขยายตัว 22.7% (ส่งออกไปตลาดจีน เบนิน และแอฟริกาใต้) และ อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 2.9% (ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย)

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยังคงหดตัวที่ 13.7% โดยเป็นการหดตัวจากทั้งปริมาณและราคา เนื่องจากการชะลอการสั่งซื้อจากจีนเป็นหลัก ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป หดตัว 5.7% รวม 4 เดือนแรก กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 10.9%

ด้านสินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าการส่งออก ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ที่ 7.9% (YoY) โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 54.3% (ส่งออกไปตลาดจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) เคมีภัณฑ์ ขยายตัว 30.7% (ส่งออกไปตลาดจีน อินโดนีเซีย และอินเดีย) น้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัว 22.3% (ส่งออกไปตลาดสิงคโปร์ ลาว และจีน) ทองคำ ขยายตัว 24.3% เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ขยายตัว 18.7%

สำหรับสินค้าที่ยังคงหดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (หดตัว 12.4% 10.2% 2.2% และ 2.8% ตามลำดับ) ทั้งนี้มูลค่าส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบลดลงเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อน ผู้ผลิตมีการออกรถยนต์รุ่นใหม่ทำให้มีมูลค่าส่งออกสูง รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงกระทบกำลังซื้อในตลาดตะวันออกกลาง และบางประเทศเริ่มการปรับมาตรฐาน CAF&Eacute ทำให้การส่งออกรถยนต์ไปตะวันออกกลางชะลอตัว รวม 4 เดือนแรก กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 4.4%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 60 มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่ 5.0% โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าส้าคัญล้วนมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองในภูมิภาคต่างๆ และความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนและเพิ่มความไม่แน่นอนของการค้าและการลงทุนของโลกในระยะต่อไป ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการทุกรูปแบบ เพื่อให้การส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวได้ใกล้เคียงเป้าหมายให้มากที่สุด

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อว่า กระทรวงพาณิชย์จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมการมาตรการรองรับนโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งทางกระทรวงจะมีการติดตามประกาศข้อตกลงกับการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่ที่จะใช้เจรจากับทางแคนาดาและเม็กซิโก เพื่อนำกำหนดท่าทีของไทย ซึ่งมาตรการของสหรัฐฯในข้อตกลงทางการค้า จะเน้นเรื่องการปรับตัวใหัรองรับการค้าโลกในสมัยใหม่ หรือดิจิทัล เทรด และเน้นการปรับปรุงบทบัญญัติในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการบริการ เรื่องพิธีการศุลกากร เรืองแรงงาน เรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องเอสเอ็มอี โดยถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่สหรัฐใช้ในการเจรจาทางการค้า ซึ่งไทยจะเอาข้อมูลมาพิจารณาและหามาตรการรองรับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ