ธ.ออมสิน ตั้งเป้าปีนี้สินเชื่อโต 3% ขยายบริการธนาคารชุมชน พร้อมคาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ยปลายปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 25, 2017 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าการขยายตัวของสินเชื่อไว้ที่ 3% หรือเพิ่มขึ้นสุทธิ 58,000 ล้านบาท เงินฝากขยายตัว 3% หรือเพิ่มขึ้นสุทธิราว 64,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 21,000 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารฯ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.60) มีกำไรสุทธิ 8,656 ล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ย โดยสินเชื่อคงเหลือ ณ วันที่ 30 เม.ย.60 อยู่ที่ 1,975,518 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากสิ้นปี 59 ซึ่งอยู่ที่ 1,901,851 ล้านบาท

"มาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สินเชื่อขยายตัวได้ โดยเป็นการให้สินเชื่อครอบคลุมทุกประเภท ได้แก่ สินเชื่อภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงิน (โครงการเงินกู้ซอฟท์โลน) สินเชื่อธุรกิจ SMEs สินเชื่อเคหะ สินเชื่อกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก สินเชื่อเพื่อสังคมและชุมชน (กองทุนหมู่บ้าน) สินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐ และธนาคารผู้สูงวัย" นายชาติชาย กล่าว

สำหรับเงินฝากลดลง 2.8% อยู่ที่ 2,098,321 ล้านบาท จากสิ้นปี 59 อยู่ที่ 2,159,136 ล้านบาท ส่งผลให้สินทรัพย์รวมลดลงเล็กน้อย 0.6% จาก 2,509,588 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 59 มาอยู่ที่ 2,494,045 ล้านบาท

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยังกล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานในปี 60 ว่า ธนาคารได้ดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์สู่ GSB New Century เดินหน้าด้วยภารกิจหลัก 6 ด้านสำคัญ คือ 1.บริหารเศรษฐกิจแบบพอเพียง ด้วยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น บัตรเครดิตที่กำหนดวงเงินที่เหมาะสมกับวิธีการใช้ ด้วยแนวคิด "สุขแบบไทย ใช้แบบพอเพียง" และกำลังจะดำเนินการต่อในประเภทสินเชื่อเคหะ ภายใต้แนวคิด "รู้จักประมาณตน กู้ตามฐานะ" โดยไม่สนับสนุนการกู้เงินมาก แม้จะมีความสามารถที่จะกู้ได้มากก็ตาม

2.ส่งเสริมการออมและการสร้างวินัยทางการเงิน จากรูปแบบเดิมที่ใช้กระปุกออมสินเป็นหลักในการส่งเสริมให้ออมเงินในวัยเด็ก แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปจะต้องมีมุมมองที่กว้างขึ้น จึงกลายเป็นการออมเศรษฐกิจ ออมสังคม และออมสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้วิธีการสร้างวินัยทางการเงินในยุคดิจิตอล เช่น การทำบัญชีครัวเรือนผ่านแอพพลิเคชั่น ส่งเสริมให้ลูกค้าระดับฐานรากทั้ง Micro SMEs และ SMEs ทำบัญชีระบบบัญชีเดียว

3.ธนาคารผู้สูงวัย รองรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยธนาคารออมสินพร้อมที่จะดูแลทางด้านการเงินของผู้สูงวัยให้มีความมั่นคง ในช่วงไตรมาส 1/60 ทั้งด้านเงินฝากและสินเชื่อ เช่น เงินฝากเผื่อเรียกประชารัฐผู้สูงวัย ซึ่งล่าสุดมีผู้ฝากเงินแล้ว 10,370 ราย คิดเป็นยอดเงินฝาก 604 ล้านบาท, เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษผู้สูงวัย มีผู้ฝากเงินแล้ว 6,775 ราย คิดเป็นนยอดเงินฝาก 4,322 ล้านบาท, สินเชื่อประชารัฐเพื่อผู้สูงวัย มีผู้ได้รับสินเชื่อแล้ว 409 ราย คิดเป็นวงเงิน 31 ล้านบาท, สินเชื่อเคหะลูกกตัญญูดูแลบุพการี มีผู้ได้รับสินเชื่อแล้ว 35 ราย คิดเป็นวงเงิน 65 ล้านบาท และสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) ซึ่งจะมีการเปิดตัวในเดือนมิ.ย.60

4.แก้หนี้นอกระบบ โดยมีวงเงินดำเนินการ 5,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายให้ดำเนินการเร่งด่วน ภายใต้โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในครอบครัวแก่ผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยรายละไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งธนาคารออมสินได้เปิดให้ลงทะเบียนไปเมื่อปลายเดือนก.พ.60 และจะสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค.นี้ โดยล่าสุดมีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 146,266 ราย วงเงินรวม 6,600 ล้านบาท ยื่นเอกสารพร้อมแล้วเกือบ 1 แสนราย และธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 1.5 หมื่นราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อกว่า 600 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีช่องทางให้ยื่นกู้ได้ในรูปแบบอื่นๆ ทั้งพิโกไฟแนนซ์ และสถาบันการเงินชุมชน เป็นต้น

5.SMEs Start up โดยต้นปี 59 ธนาคารออมสินได้นำเสนอโครงการ SMEs Start up Thailand เพื่อเป็นแนวทางให้ SMEs และ Start up ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ดำเนินธุรกิจบนความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เปิดโอกาสให้ธุรกิจรายเล็กได้เข้าถึงแหล่งทุน พัฒนาศักยภาพและมีตลาดค้าขาย ซึ่งในปีนี้ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 508 ราย คิดเป็นวงเงิน 1,821 ล้านบาท รวมทั้งยังสนับสนุนเงินลงทุนผ่นกองทุนร่วมลงทุน Venture Capital จัดตั้งเป็น SMEs Private Equity Trust Fund วงเงิน 2,000 ล้านบาท มีการร่วมลงทุนไปแล้ว 6 ราย คิดเป็นวงเงิน 165 ล้านบาท

6.Digi-Thai Banking โดยธนาคารได้พัฒนารูปแบบการให้บริการไม่ว่าจะเป็นสาขา, สาขาดิจิตอลที่ให้บริการ 24 ชม. บริการธนาคารชุมชนใแนวคิดออมสินเพื่อชุมชน รวมถึง Mobile Banking ในชื่อ MyMo และล่าสุดได้มีการพัฒนาให้สามารถใช้ QR code ถอนเงินสดได้ที่ตู้เอทีเอ็มโดยไม่ต้องใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต่อไปจะมีบริการชำระบเงินที่ร้านค้าด้วย QR code รวมถึง Chill Chill Finance ในการยื่นขอสินเชื่อธนาคารประชาชนผ่าน MyMo และเงินฝาก No Book ที่สามารถเลือกระยะเวลาฝากได้

"ปีนี้คาดว่าธนาคารจะรับรองการให้บริการธนาคารชุมชนได้ประมาณ 480 หมู่บ้าน และจะขยายเพิ่มไปอีกเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อต้องการให้แต่ละหมู่บ้านสามารถให้บริการตนเอง ทำได้เหมือนสาขาของธนาคาร ทั้งฝาก ถอน โอนเงิน ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ที่ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และตอบโจทย์ให้แก่ประชาชนในกลุ่มฐานราก" นายชาติชาย กล่าว

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การสนับสนุนนโยบายรัฐที่สำคัญในปี 60 ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน, สินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน, มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้าน, โครงการเพิ่มศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง, สินเชื่อซอฟท์โลนสำหรับ SME, บ้านประชารัฐ, โครงการสวัสดิการแห่งรัฐ และ National e-Payment

อย่างไรก็ดี ธนาคารออมสินยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยเพิ่มเติม คือ โครงการ Street Food ซึ่งล่าสุดได้ส่งแบบร่างของโครงการเสนอให้กระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้ว โดยจะเป็นโครงการที่ช่วยยกระดับคุณภาพอาหารริมทางให้ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้พ่อค้าแม่ค้า และจะทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีรายได้ที่สูงขึ้น คาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการได้ในเดือนมิ.ย.นี้

"อาจเป็นการสร้างแบรนด์ขึ้นมา เช่น "Thailand ชวนชิม" ใครมาประเทศไทยต้องมากิน Thailand Street Food ทั้งถูก ดี และมีคุณภาพ เราต้องมาช่วยสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง และมีหน่วยงานราชการเข้าไปรับรองคุณภาพอาหาร จะกระจายไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ถนนคนเดิน โดยใช้แนวทางประชารัฐที่จะมีพันธมิตรความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เราได้คุยกับที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.ไว้เบื้องต้นบ้างแล้ว ต้องร่วมกันสร้างเพื่อช่วยทำให้แบรนด์ของ Thailand Street Food ติดตลาดโลก" นายชาติชาย กล่าว

ด้านนายวิทัย รัตนากร รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงทิศทางดอกเบี้ยในตลาดว่า ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.59 และแนวโน้มจะเริ่มเป็นฝั่งขาขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละภูมิภาคที่จะมีความแตกต่างกันไป พร้อมมองว่าในส่วนของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ มีความเป็นไปได้สูงที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งภายในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะต้องปรับขึ้นอย่างแน่นอน และมีโอกาสที่จะได้เห็นในช่วงปลายปีหรือต้นปี 61

"เฟดขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน เราก็คงต้องขึ้นตาม ช้าหรือเร็วก็คงต้องดึงให้ทั้งโลกปรับขึ้น ไม่ว่าจะดูจากดัชนีหรือโพลล์ต่างๆ เชื่อว่าดอกเบี้ยเฟดขึ้นแน่นอน แต่จะเร็วหรือช้าเท่านั้นเอง เชื่อว่าระยะยาวดอกเบี้ยเฟดจะกลับไปอยู่ที่เฉลี่ย 3% แน่นอน เพราะเงินเฟ้อของสหรัฐสูงมาก รวมทั้ง Unemployment rate ขึ้นไปที่ระดับ Full แล้ว" นายวิทัย กล่าว

พร้อมระบุว่า หากส่วนต่างของดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐแคบลง เงินทุนจะไม่ไหลเข้าประเทศไทย แต่ในทางกลับกันจะเป็นการไหลออกของเงินทุน ดังนั้นจึงมีคำถามว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสามารถตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเช่นในปัจจุบันไว้ได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.9% ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตามที่ ธปท.กำหนดไว้ที่ 1.5-4% ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลสมควรที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

"สิ้นปีนี้ดอกเบี้ย RP มีโอกาสจะต้องขยับ หรืออย่างช้าต้นปีหน้าจะต้องขยับแน่นอน เพราะ gap มันแคบมาก ลองคิดดูว่าดอกเบี้ย RP ยืนอยู่ที่ 1.5% แล้วหากดอกเบี้ยเฟดปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.5% เท่ากัน ในขณะที่ทุกคนเชื่อว่าในระยะยาวเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระดับ 3% แน่นอน ก็จะทำให้เงินวิ่งกลับข้างกัน" นายวิทัย กล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะนี้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังมีอยู่มาก เพราะเงินทุนยังไม่ไหลออก แต่เชื่อว่าเมื่อเงินทุนเริ่มไหลออก สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จะเริ่มตึงขึ้น ประกอบกับปีนี้เป็นปีที่รัฐบาลได้ตั้งวงเงินงบประมาณขาดดุลไว้สูงขึ้น จึงคาดว่าประมาณไตรมาส 4 ปีนี้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรจะปรับเพิ่มขึ้นและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะเพิ่มขึ้นตาม การระดมทุนของเอกชนด้วยการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้จะลดลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะเริ่มถูกกว่า และสุดท้ายเมื่อ ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี จะทำให้อัตราดอกเบี้ยโดยรวมจะต้องปรับเพิ่มขึ้นตามหมด

"ปีหน้าจะเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่จากวันนี้ไปชัดเจนว่าเป็นทิศทางของดอกเบี้ยขาขึ้น ส่วนการลดดอกเบี้ยที่ผ่านมาของธนาคารพาณิชย์นั้น เป็นเรื่องที่ รมว.คลัง ต้องการให้ช่วยเหลือ SMEs ซึ่งก็ถือเป็นอีกประเด็น และหลายแบงก์รวมทั้งออมสินก็ได้ตอบสนองไปอย่างรวดเร็วแล้ว จากปกติออมสินก็มีดอกเบี้ย MRR ต่ำสุดในระบบของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว ซึ่งเราก็ปรับลดลงไปอีก ทำให้ตอนนี้เราอยู่ต่ำกว่าแบงก์ใหญ่ทั้งหมด" นายวิทัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ