(เพิ่มเติม) KBANK ปรับประมาณการเงินบาททั้งปีนี้ที่ 34.50 จากเดิม 35.70 บาท/ดอลลาร์หลังทิศทางแข็งค่ากว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 15, 2017 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ระบุว่า ขณะนี้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าไปมากกว่าที่ธนาคารได้ประเมินไว้มาก โดยสาเหตุสำคัญเนื่องจากมีกระแสเงินทุนไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น KBANK จึงได้ปรับคาดการณ์ค่าเงินบาทสำหรับปีนี้ใหม่มาอยู่ที่ระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่ระดับ 35.70 บาท/ดอลลาร์

"ปัจจุบันเงินบาทถือว่าแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่ธนาคารคาดการณ์ จากกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาจากการเข้าซื้อกิจการ 2 แห่ง ประกอบกับดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปัจจุบันยังมีการเกินดุล 11% ซึ่งสูงเป็นลำดับ 3 ของโลก แสดงถึงความไม่สมดุลของเศรษฐกิจไทยที่พึงพาตลาดต่างประเทศมากเกินไป และยังไม่มีการลงทุนเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้เงินบาทแข็งค่ามากในปัจจุบันที่ 33.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ" นายกอบสิทธิ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่กดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้หลังจากนี้ โดยเฉพาะการปรับลดขนาดสินทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวานนี้ประธานเฟดได้ส่งสัญญาณถึงการปรับลดขนาดสินทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากนี้ โดยปัจจุบันขนาดสินทรัพย์ของสหรัฐมีมูลค่าอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งธนาคารคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดขนาดสินทรัพย์ในช่วงเดือนก.ย.นี้

โดยในช่วงแรก คาดว่าเฟดจะปรับลดขนาดสินทรัพย์รวมมูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญ/เดือน แบ่งเป็น การลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ 6 พันล้านเหรียญ/เดือน และลดการถือครองอสังหาริมทรัพย์ 4 พันล้านเหรียญ/เดือน และในระยะต่อไปจะปรับเพิ่มการลดขนาดสินทรัพย์เป็นสองเท่า โดยจะลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯเป็น 3 หมื่นล้านเหรียญ/เดือน และลดการถือครองอสังหาริมทรัพย์เป็น 2 หมื่นล้านเหรียญ/เดือน ซึ่งการลดขนาดสินทรัพย์ของสหรัฐฯ เป็นการทำให้สภาพคล่องของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯในระบบลดลง และช่วยหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีการแข็งค่าขึ้นได้

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ยสหรัฐฯ นั้น นายกอบสิทธิ์ คาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มองว่าไม่มีผลกระทบต่อตลาดเงินมากนัก เพราะตลาดได้รับรู้ปัจจัยดังกล่าวไปมากแล้ว ซึ่งตลาดคาดว่าเฟดจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปีนี้รวม 3 ครั้ง

นายกอบสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายกฏเกณฑ์ในการดำเนินธุรกรรม FX สำหรับภาคเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้มากขึ้นสำหรับภาคธุรกิจที่จะซื้อ-ขายเงินตราต่างประเทศนั้น หวังว่าจะช่วยเพิ่มแรงส่งให้มีเงินอออกนอกประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงการปฏิรูปทำให้ภาคธุรกิจยังลังเลที่จะมีการลงทุนเพิ่ม ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างการลงทุนและการออมกว้างขึ้น และทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาไทยมีการเกินดุลบัญชีสะพัดต่อ GDP สูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากสิงคโปร์ และใต้หวัน

สำหรับเศรษฐกิจไทย ธนาคารฯ มองว่าเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตช้าที่สุดในภูมิภาคอาเซียนในปีนี้ จากการปฏิรูปที่ยังคงดำเนินต่อ โดยการบริโภคยังจำเป็นต้องพึ่งพาการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 21% ในขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาเชิงโครงสร้างประชากรยังกดดันการบริโภคอยู่ ด้านการเบิกจ่ายของรัฐบาลได้ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังต้องการความชัดเจนในเรื่องเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งนี้จนกว่าการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจและการเมืองจะลดลง ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาภาคต่างประเทศ ทั้งจากการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับ 3%

สำหรับเศรษฐกิจโลกนั้น มองว่ายังคงมีเสถียรภาพและการค้าโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้จะมีประเด็นเรื่องประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์, กรณี BREXIT และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ 3.3% ในปีนี้ และ 3.4% ในปี 61 ซึ่งความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกจะลดลง เนื่องจากได้ผ่านพ้นประเด็นสำคัญสำหรับปีนี้ไปแล้ว และตลาดได้รับรู้ข่าวไปมากแล้ว

https://www.youtube.com/watch?v=SuyCmtMcssA


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ