(เพิ่มเติม) ธปท. มองบาทมีแนวโน้มผันผวนตามปัจจัยนอก แนะภาคธุรกิจเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 19, 2017 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ "ตรวจสุขภาพการส่งออกไทย" ในงานค่าเงินบาทแข็ง SMEs แก้ได้อย่างไร โดยระบุว่า ปีนี้ ธปท.ประเมินเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.4% โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เช่น การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว, การใช้จ่ายภาครัฐ, การท่องเที่ยว และอีกเครื่องยนต์ที่สำคัญ คือ ภาคการส่งออก ที่ถือว่าเริ่มสตาร์ทและจะเป็นแรงส่งที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออกของไทยเริ่มมีสัญญาณที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ จากที่หดตัวต่อเนื่องตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการฟื้นตัวของการส่งออกเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จึงทำให้การส่งออกไทยได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่การที่สุขภาพการส่งออกของไทยเริ่มดีขึ้นและจะสามารถลุกขึ้นหรือวิ่งได้ดีในระยะข้างหน้าหรือไม่นั้น คงต้องขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะกำลังซื้อที่ต้องเพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ

น.ส.วชิรา ระบุว่า การส่งออกไทยปีนี้จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย 5% ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, นโยบายการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศคู่ค้าหลักที่มีแนวโน้มจะเข้มงวดมากขึ้น, ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงมองว่าการส่งออกไทยจะเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใดนั้น ควรต้องมาจากการยกระดับและพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากกว่าที่จะหวังพึ่งเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนให้มาช่วยการเติบโตของภาคส่งออก

"ค่าเงิน มีผลต่อการส่งออกอยู่บ้าง ในแง่ของรายได้ในรูปเงินบาท และความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง แต่ค่าเงินยังถือว่ามีผลน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า เพราะเคยมีข้อมูลในอดีตที่บ่งบอกว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกดี เงินบาทแข็ง แต่การส่งออกไทยยังโตได้ดี ในขณะที่บางช่วงเวลาเมื่อเศรษฐกิจโลกขาลง เงิบาทอ่อน ก็ยังไม่ได้ช่วยให้ส่งออกดีขึ้น ดังนั้นค่าเงิน จึงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ยาวิเศษ ดังนั้นเราควรจะทำอย่างไรเพื่อจะยกระดับสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่จะใช้สเตอรอยด์ในเรื่องค่าเงินมาช่วยการส่งออกได้แค่เพียงชั่วคราว" น.ส.วชิรา กล่าว

พร้อมระบุว่า ค่าเงินบาทในระยะ 2 ปีที่ผ่านมามีความผันผวนไปทั้งสองทิศทาง คือ ทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า ซึ่งความผันผวนนั้นล้วนมีปัจจัยภายนอกเป็นหลักทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินและความไม่แน่นอนทางการเมืองของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนและส่งผลมาถึงค่าเงินที่ผันผวนตามไปด้วย โดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคมีความผันผวน 3.8% ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับกลาง ๆ ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าไปแล้ว 5% และถือว่ายังสอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะเดียวกันปัจจัยภายในประเทศเอง ก็มีส่วนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุลในระดับสูง, การนำเข้าสินค้าทุนที่ชะลอตัวลง รวมทั้งการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

"ดังนั้นจึงมองว่าค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะผันผวนได้อีกจากสภาพเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินของต่างประเทศที่เป็นประเทศหลักๆ ตลอดจนปัญหาการเมือง การสู้รบในตะวันออกกลาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แต่เราต้องยอมรับให้ได้ ซึ่งเมื่อรู้แล้ว จะมีการบริหารจัดการ หรือปิดความเสี่ยงนั้นๆ ได้อย่างไร" น.ส.วชิรา กล่าว

โดยเห็นว่าเครื่องมือที่จะใช้บริหารความเสี่ยงหรือปิดความเสี่ยงในด้านการส่งออกที่ผู้ประกอบการ SME ควรจะให้ความสนใจเลือกใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น การทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า, การเปิดบัญชีเงินฝากเป็นสกุลเงินต่างประเทศ และการใช้เงินสกุลท้องถิ่นกับประเทศคู่ค้า เป็นต้น

"แม้แนวโน้มการส่งออกไทยจะมีสัญญาณเริ่มฟื้นตัว แต่สภาพแวดล้อมต่างๆ ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ควรหันมาฉีดวัคซีนให้กับการส่งออกด้วยการเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเหมาะสมและทำอย่างมีวินัย" น.ส.วชิรา กล่าว

นายอโศก อุปัทยา รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ผลกระทบต่อการส่งออกไทยจากกรณีที่เงินบาทแข็งยังไม่มากเท่ากับผลกระทบจากนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก ซึ่งในเรื่องนี้ผู้ประกอบการ SME ควรให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะการที่เงินบาทแม้จะแข็งค่าขึ้นแต่ก็ยังแข็งค่าอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคที่เป็นประเทศคู่แข่งของไทย ดังนั้นจึงยังไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกมากนัก

ทั้งนี้หากจะพิจารณาในภาพรวมแล้ว การส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ไม่กลับไปอยู่ในระดับที่ติดลบเหมือนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวอาจจะคงอยู่ไม่เกิน 3 ปีนับจากนี้ เพราะโลกอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็ยากที่จะประเมินได้ว่าการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ที่ยังใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ล้าสมัย จำเป็นต้องปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

สิ่งสำคัญอีกประการที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกไทย คือ การที่ประเทศต่างๆ ดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการส่งออกและปกป้องอุตสาหกรรมภายในของประเทศตัวเองด้วยการใช้นโยบายกีดกันทางการค้า (NTB) ในรูปแบบต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งมองว่าประเด็นนี้ผู้ประกอบการ SME ของไทยยังไม่ให้ความตระหนักเท่าที่ควร ซึ่งเมื่อระยะเวลา 3 ปีนั้นมาถึง สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องเลือกเพื่อความอยู่รอดในการแข่งขันกับตลาดการค้าโลก คือ การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ หรือการก้าวตามเทคโนโลยีให้ทัน

"เงินบาทที่แข็งค่าไม่ได้มีผลกระทบมากเท่ากับนโยบายของประเทศคู่ค้าของเรา เราต้อง monitor อย่างใกล้ชิด...มาตรการ NTB รูปแบบใหม่ๆ ประกอบกับเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปนั้น ผู้ประกอบการ SME ควรจะต้องศึกษาให้รอบรู้" นายอโศก กล่าว

ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ระบุว่า จากข้อมูลในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SME ประมาณ 2.7 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการส่งออกประมาณ 2% หรือไม่เกิน 60,000 คน และในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการ SME ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ถึง 10% หรือไม่ถึง 6,000 คน

"นักรบเศรษฐกิจไทยที่เดินออกไปรบโดยใส่เสื้อเกราะ หรือหมายถึงรู้วิธีบริหารความเสี่ยง มีไม่ถึง 6 พันคน หรือแปลว่ามีเพียงแค่ 0.1% เท่านั้นจาก SME ทั้งหมด 2.7 ล้านคน" นายรักษ์ กล่าว

ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ควรจะให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงในด้านการส่งออก เช่น การทำประกันการส่งออก (Export Insurance) เพราะจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยประกันความเสียหายที่เกิดจากความเสี่ยงที่มีผลต่อการชำระเงิน เช่น ผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อปฎิเสธการชำระเงิน ผู้ซื้อไม่รับมอบสินค้า หรือเกิดเหตุการณ์การปฏิวัติ รัฐประหาร การห้ามนำเข้าสินค้า มาตรการห้ามโอนเงิน โดยการเลือกใช้เครื่องมือประกันการส่งออกนี้ถือว่ามีต้นทุนที่ต่ำมาก เพราะหากประกันความเสี่ยง 1 ล้านบาท จะจ่ายเบี้ยเพียง 3,000 บาทเท่านั้น และในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ธนาคารยังได้ปรับลดเบี้ยลง 50% เหลือ 1,500 บาท และหากมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อการส่งออกก็ยังสามารถเคลมได้สูงสุดถึง 90% ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ในการผลักดันการส่งออกของไทยให้เพิ่มมากขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ