(เพิ่มเติม) EXIM BANK จับมือบสย.เปิดตัว“สินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า"เสริมสภาพคล่อง-ปิดความเสี่ยงให้ผู้ส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 22, 2017 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และนายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดบริการใหม่ "สินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า (EXIM Instant Credit Super Value)" เพื่อเป็นสินเชื่อหมุนเวียนในช่วงก่อนและหลังการส่งออก วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปีในปีแรก ให้วงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) มูลค่าเทียบเท่าวงเงินสินเชื่อ ผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเริ่มต้นส่งออกสามารถสมัครขอรับบริการได้โดยใช้ บสย.ค้ำประกัน ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

"เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุน SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศที่มีจำนวนกว่า 2.7 ล้านราย โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเป็นผู้ส่งออก SMEs จำนวนกว่า 25,000 ราย ผู้ส่งออก SMEs ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอก อาทิ การขาดสภาพคล่อง เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และประสบปัญหาอันเนื่องมาจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน" นายพิศิษฐ์ กล่าว

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK ได้พัฒนาบริการสินเชื่อเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านเงินทุน และการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้แก่ผู้ส่งออก SMEs ได้แก่ "สินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า" ซึ่งพัฒนามาจากบริการสินเชื่อส่งออกทันใจในปี 2559 เป็นสินเชื่อหมุนเวียนในช่วงก่อนและหลังการส่งออก พร้อมบริการรับซื้อตั๋วส่งออก ขยายวงเงินกู้สูงสุดถึง 2 ล้านบาท และให้วงเงินสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) มูลค่าเทียบเท่าวงเงินสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปีในปีแรก ใช้เพียงบุคคลค้ำประกัน และหนังสือค้ำประกันของ บสย. เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้แก่ธุรกิจส่งออก SMEs ของไทยในช่วงจังหวะที่การส่งออกของไทยกำลังกลับมาฟื้นตัว จนหน่วยงานหลายแห่งได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกในปี 2560 สูงขึ้นถึงกว่า 3.0% ต่อปี

นอกจากนี้ EXIM BANK ได้ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ไทยมีความพร้อมที่จะขยายธุรกิจไปค้าขายในตลาดต่างประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จ เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย โดยได้รับอานิสงส์จากโอกาสทางธุรกิจในปี 2560 คือ 1.เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกฟื้นตัวดีขึ้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2560 จะขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปีอยู่ที่ 3.5% และปริมาณการค้าโลกในปีนี้จะขยายตัว 3.8% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่การค้าโลกจะกลับมาขยายตัวสูงกว่า GDP โลก 2.ราคาน้ำมันฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันของไทยซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 13% ของมูลค่าส่งออกรวม 3.การส่งออกบริการช่วยกรุยทางให้โอกาสในการส่งออกสินค้าเปิดกว้างขึ้น 4.การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่นำมาผลิตเพื่อส่งออกกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากหดตัว 3 ปีติดต่อกัน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและการส่งออกในระยะถัดไปมีแนวโน้มฟื้นตัว

"ในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ผู้ส่งออก SMEs ของไทยต้องมีเครื่องมือทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เชิงรุกได้แก่ การศึกษาตลาด ปรับปรุงการผลิต หาช่องทางการตลาดใหม่ๆ และเตรียมแหล่งเงินทุนให้พร้อม ส่วนเชิงรับได้แก่ การเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงจากการค้าการลงทุน และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง EXIM BANK ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น บสย. มีคำปรึกษาแนะนำ ข้อมูลข่าวสาร และบริการทางการเงินครบวงจร เพื่อติดอาวุธให้ผู้ส่งออก SMEs ของไทยในเวทีการค้าโลก โดยสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-curve)" นายพิศิษฐ์ กล่าว

นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมในช่วงครึ่งปีหลัง มีโมเมนตัมเชิงบวกต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 ขยายตัวได้ราว 3.5% สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยได้อานิสงส์จากปัจจัยเกื้อหนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

แต่ท่ามกลางภาวะส่งออกในครึ่งปีหลังที่มีแนวโน้มดี ขณะที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องกังวล ทั้งกระแส Protectionism ที่ยังคงครุกรุ่น แม้ว่าท่าทีของสหรัฐฯ ในการปรับขึ้นภาษีกับประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วยจะผ่อนคลายลง แต่สหรัฐฯ อาจหยิบยกมาตรการที่มิใช่ภาษี มาเป็นเครื่องมือหลักในการลดการขาดดุลการค้าเป็นระยะๆ ได้

ภัยก่อการร้ายและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่พร้อมจะปะทุขึ้นได้ตลอดเวลา เป็นปัจจัยเสี่ยงที่บั่นทอนสัญญาณเชิงบวกของการค้าโลกอยู่เป็นระยะ

อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนและยากที่จะคาดการณ์ จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อีกทั้งเครื่องมือทางการเงินในปัจจุบันที่มีความหลากหลายขึ้น ทำให้เงินทุนระหว่างประเทศเคลื่อนย้ายรวดเร็วมาก ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจกระทบมาถึงค่าเงินได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล พบว่า ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ยังขาดทั้งอาวุธและเกราะกำบังในการรุกตลาดต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ SMEs มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเป็นลำดับ อีกทั้ง SMEs ยังอ่อนไหวต่อปัจจัยความไม่แน่นอนมากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกของ SMEs ไตรมาส 1 ปี 2560 ที่หดตัว 13.5% สวนทางกับการส่งออกรวมของประเทศในเทอมบาทที่ขยายตัวได้ 3.1% โดยข้อจำกัดที่ผู้ประกอบการ SMEs เผชิญอยู่หลักๆ คือ ปัญหาขาดสภาพคล่อง การเผชิญกับเงื่อนไขการกู้เงินที่เข้มงวด และมีความกังวลถึงความเสี่ยงในการส่งออก

ดังนั้น EXIM BANK ในฐานะหนึ่งในกลไกสำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้พยายามผลักดันให้ SMEs ที่มีศักยภาพขยายตลาดและกระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศมากขึ้น ด้วยการออกบริการใหม่ “สินเชื่อส่งออกทันใจทวีค่า" เพื่อหวังจะติดทั้งอาวุธและให้เกราะกำบังในการรุกตลาดต่างประเทศ เพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ