สศค.เผยเศรษฐกิจภูมิภาค มิ.ย.และ Q2/60 โตต่อเนื่อง หลังการบริโภค-ลงทุนเอกชนเริ่มฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 27, 2017 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน มิ.ย.และไตรมาส 2/60 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคขยายตัวต่อเนื่อง นำโดยภาคใต้, ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาค รวมถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ในเดือน มิ.ย.60 ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 26.6% และ 0.9% ต่อปีตามลำดับ ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด ทำให้ในไตรมาส 2/60 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 29.6% และ 22.7% ต่อปีตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ 29.0% ต่อปี ทำให้ในไตรมาส 2/60 ขยายตัวในระดับสูงที่ 38.0%ต่อปี

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาส 2/60 ขยายตัว 3.5% และ 23.1% ต่อปีตามลำดับ สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากผลผลิตยางพารา และกุ้ง เป็นสำคัญ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. (เบื้องต้น) 60 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.6% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน พ.ค.60 อยู่ที่ 1.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 1.9% ต่อปี ทำให้ในไตรมาส 2/60 ขยายตัว 8.2% ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาส 2/60 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 3.1% และ 10.9% ต่อปี ตามลำดับ

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน โดยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2/60 ขยายตัวที่ 2.9% และ 10.6% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. (เบื้องต้น) 60 อยู่ในระดับต่ำที่ 2.4% ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 6.8% และ 2.4% ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาส 2/60 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 13.2% และ 10.7% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวในอัตราเร่งเช่นกันที่ 9.0% และ 17.0% ต่อปีตามลำดับ ตามการปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกจังหวัด

ด้านอุปทานขยายตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน โดยในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาส 2/60 ขยายตัวที่ 1.9% และ 5.5% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) 60 อยู่ในระดับต่ำที่ -0.6% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 1.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวต่อเนื่องที่ 0.3% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 14.2% ต่อปี ทำให้ในไตรมาส 2/60 ขยายตัวที่ 18.3% ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 66.4% ตามการลงทุนในจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ จังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี และอุดรธานี เป็นต้น ทำให้ในไตรมาส 2/60 ขยายตัว 35.6% ต่อปี

สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาส 2/60 ขยายตัวที่ 2.1% ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. (เบื้องต้น) 60 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ 2.9% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน พ.ค.60 อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 15.7% และ 1.0% ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาส 2/60 ขยายตัว 17.9% และ 11.2% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 14.6% ต่อปี ทำให้ในไตรมาส 2/60 ขยายตัวที่ 7.0% ต่อปี

ส่วนด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน โดยในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวที่ 3.4% และ 7.1% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. (เบื้องต้น) 60 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ -1.2% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

สำหรับ กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย.ที่ขยายตัว 1.5% และ 98.8% ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาส 2/60 ขยายตัว 7.8% และ 108.2% ต่อปี ตามลำดับ

ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาส 2/60 ขยายตัวที่ 4.4% และ 20.4% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย. (เบื้องต้น) 60 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ 2.5% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือน พ.ค.60 อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 12.5% ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาส 2/60 ขยายตัว 15.9% ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ 0.4% ทำให้ในไตรมาส 2/60 ขยายตัว 2.9% ต่อปี เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน มิ.ย.60 มีเงินลงทุน 3,977 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 133.5% ต่อปี ตามการลงทุนในเกือบทุกจังหวัด

ส่วนด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน โดยในช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาส 2/60 ขยายตัวที่ 5.2% และ 7.8% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย.เบื้องต้น) 60 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.4% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ