คมนาคม ศึกษาแผนแม่บทขนส่งทางอากาศระยะ 10 ปี รองรับการเป็น Hub การบินในภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 23, 2017 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาครั้งที่ 1 เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการขนส่ง ทางอากาศของประเทศไทยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศในระยะยาว มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย โดยในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (60-79) ได้กำหนดแผนงานการพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ ซึ่งที่ผ่านมา การพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการการเดินอากาศ การพัฒนาสายการบิน และธุรกิจการบิน การกำกับดูแลบริหารจัดการ ข้อกฎหมาย การรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศ และบุคลากร ขาดความร่วมมืออย่างบูรณาการ ทำให้มีผลกระทบต่อด้านมาตฐาน จนทำให้ถูกธงแดง จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

ที่ผ่านมาการพัฒนาสนามบินของไทย ไม่มีรูปแบบไม่มีการวางแผน เกิดการกระจุกตัวในบางจังหวัดและไม่เชื่อมโยงกัน ดังนั้น แผนแม่บทการขนส่ง ทางอากาศของประเทศไทยระยะ 10 ปี (62-71) นี้ควรเป็นการขนส่งและโลจิสติกส์ทางอากาศ เพื่อให้ครอบคลุม และมองในทุกมิติ ทั้งแผนชาติ,พื้นที่เศรษฐกิจ, การกระจายตัว การเชื่อมโยงผู้โดยสารและสินค้า มีระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อ และเชื่อมกับอุตสาหกรรมการบิน และสอดรับกับนโยบายการพัฒนาอู่ตะเภา ในพื้นที่ Eastern Economic Corridor หรือ EEC เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งบมจ.การบินไทย (THAI) ได้ลงนาม MOU กับแอร์บัส แล้ว

ปัจจุบันการขนส่งทางอากาศ และธุรกิจการบินของโลก มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นบริการขนส่งที่มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวของการขนส่งทางอากาศมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก และการเดินทางของผู้โดยสารครึ่งหนึ่งของโลกจะมาจากทวีปเอเชีย

ด้านนางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สนข.ได้จ้างที่ปรึกษา ทำการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทการขนส่ง ทางอากาศของประเทศไทย ระยะ 10 ปี (62-71) โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน เชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงเป็นแนวทางการกำกับดูแล และการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรมทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทางอากาศ กระตุ้นความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนของไทย ตลอดจนตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และ จัดทำแนวทางการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยจัดทำโครงการนำร่อง (Pilot Projects) เพื่อเป็นต้นแบบในการส่งเสริมการขนส่งทางอากาศต่อไป

โดยขณะนี้อยู่ในขั้นการศึกษารายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 2 ซึ่งจะได้กรอบทิศทางเป้าหมายหลักที่มีความครบถ้วน สมบูรณ์ สอดคล้องกับสถานการณ์ ปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการขนส่งทางอากาศ ให้ก้าวหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ