ทปอ.ผลักดัน"บางแสน-หาดใหญ่"นำร่องโครงการ Smart City Innovation Hubs เทียบ"ฟุกุโอกะ"

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 13, 2017 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผู้จัดการโครงการ Smart City Startup Development เปิดเผยว่า ที่ประชุมอธิการดี (ทปอ.) เตรียมยกระดับเมืองอัจฉริยะต้นแบบ “บางแสน” และ “หาดใหญ่” สู่เมืองในฝันกลุ่มสตาร์ทอัพ เทียบชั้น ”ฟุกุโอกะประเทศญี่ปุ่น พัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจโดยรอบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ โครงการ Smart City Innovation Hubs ภายใต้โครงการ Innovation Hubs เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากนวัตกรรมของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดความร่วมมือของสถาบันการศึกษาในทปอ. ที่จะส่งเสริมและกระตุ้นให้นำงานวิจัยและพัฒนาด้านเมืองอัจฉริยะออกมาเป็นผู้ประกอบการใหม่ทางด้านเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะทำงานใกล้ชิดกับ Smart City Innovation Hubs ตามภูมิภาคต่างๆ ในการคัดสรรนวัตกรรมด้านเมืองอัจฉริยะ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใหม่มีความเข้มแข็งและเพิ่มอัตราความประสบความสำเร็จในธุรกิจ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560-2564 โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้ดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ โครงการฯ ได้ร่วมมือกับ “บางแสน" จ.ชลบุรี และ“หาดใหญ่"จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบเมืองอัจฉริยะ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีการเจริญเติบโต ประกอบกับโครงการมีเครือข่ายนักวิจัยในพื้นที่ สามารถสร้างเป็นเมืองต้นแบบทางนวัตกรรมได้ โดยบางแสนและหาดใหญ่จะกลายเป็นเมืองในฝันของ Start up ที่จะเป็นเมืองไฮเทคโดยอัตโนมัติ เหมือนกับเมืองฟุกุโอกะของประเทศญี่ปุ่น หรือบางเมืองในต่างประเทศที่สตาร์ทอัพเข้ามา

“การพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะของบางแสนและหาดใหญ่ จะส่งผลให้การลงทุนในพื้นที่ในจังหวัดเติบโตมากยิ่งขึ้น และส่งผลขยายการค้าและการลงทุนไปสู่จังหวัดอื่นๆ ได้ต่อไป โดยประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองอัจฉริยะทั้ง 2 เมืองนี้จะได้รับการพัฒนาและนำพาสู่วิถีชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในเรื่องเทคโนโลยีที่นำความเจริญมาสู่เมือง การค้า การลงทุน หรืการบริการ โดยภาครัฐบาลให้การสนับสนุนความพร้อมในทุกด้านที่จะช่วยยกระดับให้ความเจริญต่างๆ นำมาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ"นายอักฤทธิ์ กล่าว

สำหรับการดำเนินโครงการ “Smart City Startup Development" จะต้องมีการพัฒนาทั้งผู้ประกอบการและผู้บริหารเมืองให้เกิดความเข้าใจทั้งด้านเทคนิค การเงิน การวางนโยบาย รวมถึงออกแบบแนวทางการนำไปใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ โครงการฯ จึงออกแบบให้มีการพัฒนาทั้งภาคอุปสงค์ (เมืองต้นแบบ) และอุปทาน (ผู้ประกอบการใหม่) เพื่อขับเคลื่อนกลไกทั้งด้านการพัฒนาและการใช้นวัตกรรมให้เกิดต้นแบบการใช้งานที่มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จและขยายไปใช้ได้ทั่วประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ นักวิจัยและนักพัฒนาที่สร้างนวัตกรรมด้านเมืองอัจฉริยะและต้องการเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ รวมถึงประชาชนในเมืองอัจฉริยะ ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะและผู้บริหารเมืองอัจฉริยะ

"ในปี 60 มีจำนวนเมืองต้นแบบอัจฉริยะที่สนใจในการใช้บริการหรือผลิตภัณฑ์ด้านเมืองอัจฉริยะ จำนวน 2 พื้นที่ และจำนวนนักลงทุนหรือหน่วยงานที่สนใจในการลงทุนในผู้ประกอบการรายใหม่ด้านเมืองอัจฉริยะจำนวน 10 ราย โดยผู้ประกอบการรายใหม่สามารถสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของเมืองได้อย่างแท้จริง และมีความพร้อมในด้านต่างๆ โดยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม ยั่งยืน ครบวงจรมากขึ้น"

นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี กล่าวว่า เรื่องของ Smart City ก่อนหน้านี้เทศบาลเมืองแสนสุขได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ จัดทำโครงการแสนสุข สมาร์ท ซิตี้ มุ่งเน้นเป็นเมืองอัจฉริยะสำหรับผู้สูงวัย เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อาศัยในเมืองดีขึ้น และช่วยให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนมีประสบการณ์ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมุ่งหวังนำเสนอสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นระบบอัจฉริยะแก่ชุมชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งเริ่มโครงการนำร่องเมื่อเดือนมกราคม ปีที่ผ่านมา จำนวน 30 ครัวเรือน ตั้งเป้าจะดูแลครอบคลุม 150 ครัวเรือนภายใน 3 ปี หลังจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ อาทิ สมาร์ท ซีเคียวริตี้ การทำให้เมืองมีความปลอดภัยมากขึ้น และสมาร์ท ทัวริซึ่ม การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้บางแสนเป็นเมืองที่แสนสุขสำหรับทุกคน ทั้งคนอาศัยอยู่ในพื้นที่และสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ