ก.เกษตรฯ เร่งสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วนต่อแนวทางปฏิบัติตามพ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 25, 2017 14:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "แนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560" ว่า ระบบเกษตรพันธสัญญามีความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศ โดยเป็นระบบที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทางการเกษตรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรและเกษตรกรเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโครงสร้างในระบบเกษตรพันธสัญญายังขาดความสมดุลและไม่เป็นธรรม โดยภาครัฐได้พยายามกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินการในระบบเกษตรพันธสัญญา รวมทั้งกำหนดมาตรการกำกับดูแลและคุ้มครองคู่สัญญาไม่ให้เกิดการเอาเปรียบในการทำสัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญา แต่เนื่องจากการดำเนินงานดังกล่าวในอดีตไม่มีกฎหมายที่บังคับใช้โดยตรงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเกษตรพันธสัญญา นอกจากนี้ ยังไม่มีหน่วยงานหลักของรัฐที่จะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงหรือมีหน้าที่ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ตรวจสอบ ดูแล บังคับใช้และให้มีการปฏิบัติตามสัญญาด้วยความสุจริตและเป็นธรรม

นางจินตนา กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดแนวทางให้ภาครัฐทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และเกษตรกรเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา และการกำกับตรวจสอบ ควบคุม และพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรเพื่อให้มีความมั่นคงทางด้านรายได้ และได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรสามารถประกอบธุรกิจโดยได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยได้ตรา พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และกลไกการดำเนินงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในอันที่จะส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้มีความเข้มแข็งและเกิดความเป็นธรรม

ทั้งนี้ ได้มุ่งเน้นให้ภาครัฐทำหน้าที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรและเกษตรกรเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม ประกอบด้วย การรับแจ้งการประกอบธุรกิจและการเลิกการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา การจัดเก็บเอกสารสำหรับการชี้ชวนในระบบเกษตรพันธสัญญา การกำหนดรูปแบบสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา การกำหนดแบบสัญญากรณีสัญญาที่อาจมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม การเสนอแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา และการกำหนดกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เป็นต้น โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และคณะกรรมการเปรียบเทียบ เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน การขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560

"ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการเหตุผล และสาระสำคัญของพระราชบัญญัติ รวมทั้งหลักเกณฑ์กลไกที่ใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกฎหมาย อันจะส่งผลให้ภาครัฐ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบทบาทที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุ

ด้านนายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ทราบแนวทางการปฏิบัติ สิทธิ และหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และเกษตรกร ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ตามกรอบของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 และกลไกการดำเนินงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ

สำหรับกิจกรรมในการสัมมนา ประกอบด้วย การบรรยาย เรื่อง ชี้แจง Overview พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 การบรรยาย เรื่อง สาระสำคัญและผู้ที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 และการบรรยายเรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ