(เพิ่มเติม) ADB คงคาดการณ์ ศก.ไทยปีนี้โต 3.5% ส่งออกหนุน,ปี 61 โตต่อเนื่อง 3.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 26, 2017 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.5% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงเดือน เม.ย.60 โดยมองว่าการส่งออกจะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% ในปีนี้

สำหรับเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 60 สามารถขยายตัวได้ 3.5% จากการที่ผลผลิตภาคเกษตร และการส่งออกขยายตัวได้ดีมาก ถึงแม้การลงทุนจะยังแผ่ว

พร้อมกับประเมินว่าในปี 61 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.6% โดยความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในปีหน้ามีทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งปัจจัยภายนอก คือ ความผันผวนของตลาดเงินโลก ส่วนปัจจัยภายในที่ต้องจับตา คือ การเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในปลายปี 61 ตามแผนโรดแมปของรัฐบาล

นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ADB กล่าวว่า การที่ ADB ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 60 ไว้เท่าเดิมที่ 3.5% แม้แนวโน้มการส่งออกในปีนี้จะสามารถเติบโตได้ดีนั้น เป็นเพราะการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวได้ต่ำมากในช่วงครึ่งปีแรกเพียง 1.1% จึงทำให้การลงทุนภาครัฐจากที่เคยเป็นพระเอกและมีผลต่อการเติบโตของ GDP มาตลอดในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา มีผลต่อการเติบโตของ GDP ในปีนี้ลดลง

"การลงทุนภาครัฐที่เคยโตได้ดีในปี 58 ปี 59 จากที่เคยเป็นพระเอกของ GDP Growth พอมาปีนี้ลดลง จึงส่งผลให้การส่งออกที่แม้จะเติบโตดีในปีนี้ ก็ไม่ได้เป็นตัวฉุดให้ GDP ของไทยปีนี้โตขึ้นไปมากกว่าเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 3.5% เราจึงคง GDP ปีนี้ไว้เท่าเดิม" นางลัษมณ กล่าว

โดย ADB ประเมินการส่งออกของไทยในปีนี้ว่าจะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 5% ขณะที่ปี 61 คาดว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องที่ 7% เป็นอย่างน้อย เนื่องจากเชื่อว่าวัฎจักรของอุปสงค์โลกเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้น ขณะเดียวกันจากภาคการผลิตของไทยสามารถปรับตัวให้เข้ากับอุปสงค์โลกที่มีการเปลี่ยนโครงสร้างไปจากเดิม กล่าวคือ อุปสงค์โลกในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปเป็นสินค้าที่อยู่ในยุคของ Robotic และ Internet of Thing (IoT) มากขึ้น ซึ่งสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะกลับมาเป็นตัวชูโรงให้แก่ภาคการส่งออกของไทยในช่วงต่อจากนี้

"ตอนนี้เรามองว่าอุตสาหกรรมใดที่ปรับตัวให้เข้ากับอุปสงค์โลกที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างได้ก็จะไปได้ดี ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรก จะพบว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กลับมาเป็นพระเอกของการส่งออก ตอนนี้อุตสาหกรรมของไทยเริ่มปรับตัวให้เข้ากับอุปสงค์โลกได้ ซึ่งก็น่าจะทำให้การส่งออกในปีหน้าเติบโตได้ต่อเนื่อง"นางลัษมณ กล่าว

พร้อมระบุว่า ไม่เพียงแต่การส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น แต่การนำเข้าก็มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นเช่นกัน และมีโอกาสที่จะเติบโตได้มากกว่าการส่งออก โดยคาดว่าในปีนี้การนำเข้าจะเติบโตได้ 10% เป็นผลจากการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และส่วนประกอบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก

และเมื่อโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคืบหน้าไปถึงระดับหนึ่ง การนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องจักรก็จะยิ่งขยายตัวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ในปี 61 การเกินดุลการค้าอาจจะลดลงจากปีนี้

ส่วนสถานการณ์เงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในระยะที่ผ่านมานั้น มองว่า ปัญหาค่าเงินมีผลกระทบต่อการส่งออกน้อยลงกว่าในอดีต เนื่องจากในปัจจุบันมีเครื่องมือที่สามารถบริหารความเสี่ยงทางการเงินมากขึ้น และผู้ประกอบการต่างก็หันมาให้ความสำคัญในส่วนนี้กันมากกว่าอดีตที่ผ่านมา

นางลัษมณ ยังกล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระดับ 1.50% ถือว่าเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และมองว่าไม่ใช่ระดับที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ยังสามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้อยู่ ซึ่งการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายควรใช้ในสถานการณ์ที่มีความจำเป็น หรือมีความเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่านี้

"อัตราดอกเบี้ยควรขยับหรือยัง เราต้องมองไปที่ความเสี่ยงว่ามีความเสี่ยงอะไรหรือไม่ เพราะเราต้องมีกระสุนไว้ใช้ถ้ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ ตอนนี้ความเสี่ยงทางด้านตลาดเงินลดลงแล้ว เพราะความผันผวนของตลาดเงินโลกมีเรื่องการสื่อสารที่ดีของเฟดเข้ามา ทำให้ความผันผวนลดลง แต่ขณะเดียวกันมีความเสี่ยงอื่นที่คาดเดายากและหนักข้อกว่าเรื่องของตลาดเงิน คือ เรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลก และภัยธรรมชาติ ดังนั้นอาจจะต้องเก็บกระสุนไว้ก่อน" นางลัษมณ กล่าว

สำหรับรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียประจำปี 2560 ฉบับล่าสุด ยังระบุถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยด้วยว่า ผลผลิตภาคเกษตรจะขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งปีนี้และปีหน้า โดยผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อความเสียหายในภาคเกษตรอยู่ในระดับต่ำ ส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมคาดว่าค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นจากสาขาอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์

ในด้านอุปสงค์ การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่องในระดับ 3.0-3.5% ในปีนี้และปีหน้า แต่ยังมีปัจจัยกดดันอยู่บ้าง เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังไม่เข้มแข็ง และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ดี สำหรับการลงทุนภาครัฐที่แม้จะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่มีแนวโน้มว่าครึ่งปีหลังน่าจะเร่งตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยคาดว่าจะมีการเร่งเบิกจ่ายในโครงการรถไฟฟ้า สนามบิน ระบบสายส่งไฟฟ้า และถนน เนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากเป็นการลงทุนโดยรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวสูงถึง 20.5% ในไตรมาส 2/60 ส่งสัญญาณที่ดีต่อการขยายตัวในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ซึ่งการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐที่รวดเร็วขึ้น จะมีส่วนช่วยยกระดับการลงทุนของภาคเอกชน นอกจากนี้ภาครัฐควรเร่งลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุน แต่ยังรอความคืบหน้าในเรื่องของกฎหมายและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอยู่

ด้านอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำอันเป็นผลจากการลงทุนที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ประกอบกับผลิตผลการเกษตรที่เติบโตดี และเงินบาทที่แข็งค่า โดยทั้งปีนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.7% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ค่อนข้างมาก แต่คาดว่าในปี 61 เงินเฟ้อจะเริ่มขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ