ธ.ก.ส.จ่ายค่าสินไหมน้ำท่วมใหญ่ที่สกลนคร รอบแรกกว่า 44 ลบ. แนะเกษตรกรทำประกันภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 11, 2017 12:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนุกูล ปาระชาติ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งพื้นที่ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว พืชไร่ พืชสวนและปศุสัตว์ ทำให้เกษตรกรได้รับเดือดร้อน

สำหรับจังหวัดสกลนครมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 1.63 แสนราย พื้นที่เพาะปลูกข้าวรวม 2.10 ล้านไร่ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 65,407 รายพื้นที่เอาประกัน 901,700 ไร่ ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2560 ธ.ก.ส.ได้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสกลนคร รอบแรกจำนวน 4,481 ราย คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 36,000 ไร่ จำนวนเงินกว่า 44 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายที่เหลือ ธ.ก.ส.จะประสานผู้รับประกันภัยเร่งตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้เกษตรกรได้รับค่าสินไหมโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกร ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการโอนเงินค่าสินไหมที่ได้รับจากผู้รับประกันภัยเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรทุกรายโดยตรง

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องเกษตรกรทั้งการแก้ปัญหาเร่งด่วนขณะเกิดภัยพิบัติการวางแผนแก้ปัญหาและป้องกันในระยะกลางและระยะยาว รวมไปถึงการจัดทำโครงการประกันภัยข้าวนาปี ซึ่งเป็นหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวจะได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเพิ่มเติมจากเงินช่วยเหลือเยียวยาที่รัฐบาลมอบให้ในปีการผลิต 2560 มีเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส.และเกษตรกรทั่วไปเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปีแล้ว 1.58 ล้านราย คิดเป็นพื้นที่ 23.76 ล้านไร่ ค่าเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 2,299 ล้านบาท

สำหรับในปีการผลิต 2560 อัตราเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่ รัฐบาลเป็นผู้อุดหนุนเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ ผู้เอาประกันภัย 54 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลืออีก 36 บาทต่อไร่ ให้กับลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ใช้บริการสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ หากได้รับความเสียหายตามเงื่อนไขกรมธรรม์จะได้รับค่าสินไหมทดแทนในอัตราสูงสุด 1,260 บาทต่อไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ