นักวิชาการประเมินผลมาตการช็อปช่วยชาติกระตุ้นการใช้จ่าย-เศรษฐกิจได้ค่อนข้างต่ำ เม็ดเงินสะพัดไม่ถึงหมื่นล.

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday December 3, 2017 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า หลังการสิ้นสุดของมาตรการช็อปช่วยชาติ (13 พ.ย.- 3 ธ.ค. 2560) 19 วัน พบว่า สนับสนุนการเลื่อนการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไปก่อนอีก 1 ปี โดยคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของภาคการบริโภคจะเพิ่มขึ้น 2.7-2.8% เท่านั้น หากปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มในปีนี้อาจทำให้ภาคการบริโภคชะลอตัวลง โดยที่ภาคการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50-51% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ การยืดหรือเลื่อนการปรับขึ้นภาษี VAT จึงเป็นการช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง แต่ต้องปรับโครงสร้างภาษีให้มีสัดส่วนภาษีทางตรงเพิ่มขึ้น

หากเพิ่มภาษีทางอ้อมมากเกินไปในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและชนชั้นกลาง ทั้งนี้ ผลของมาตรการช็อปช่วยชาติต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ เม็ดเงินสะพัดไม่ถึง 10,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายที่ต้องจ่ายตามปรกติอยู่แล้ว จะก่อให้เกิดการชะลอการบริโภคในระยะต่อไป มีกลุ่มคนได้ประโยชน์โดยตรงค่อนข้างจำกัด เป็นผู้เสียภาษีในอัตราภาษี 20% ขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มคนเพียง 7% ของผู้ยื่นแบบเสียภาษี ปีนี้การกระตุ้นการใช้จ่ายอันเป็นผลจากมาตรการช็อปช่วยชาติมีผลน้อยกว่าปีที่ผ่านมาและมีความจำเป็นน้อยลง อย่าง มาตรการช็อปช่วยชาติปลายปี 2559 การจัดเก็บภาษี VAT เดือน ม.ค. 2560 อยู่ที่ 245,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ม.ค. 2559 รวม 3,688 ล้านบาท หรือ 1.5% ขณะที่เดือน ธ.ค. 2559 เก็บภาษี VAT ได้ 61,589 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือน ธ.ค. 2558 ราว 644 ล้านบาท หรือ 1%

อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มยังมีความจำเป็นเนื่องจากการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลได้มีการทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปีแล้ว มีความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มขึ้นและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจชนเพดาน 60% ในปี พ.ศ. 2564 ฉะนั้นการออกมาตรการที่อาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า คุ้มค่ากับการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่

แม้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ในขณะนี้ แต่ยุทธศาสตร์ความยั่งยืนทางการคลังยังไม่สามารถดำเนินได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าให้มีการจัดทำงบประมาณสมดุลในปี พ.ศ. 2561 เพราะมีความจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก จึงต้องกู้เงินเพิ่มมาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ในช่วงปีงบประมาณ 2552-2559 ประเทศไทยขาดดุลงบประมาณสะสมอยู่ที่ 2,687,027 ล้านบาทหรือคิดเป็นเฉลี่ยปีละ 335,878 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 14.4 ของเงินรายได้ของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2559 (พูดง่ายๆมีเงิน 100 บาทแต่จ่าย 114.40 บาท)

นายอนุสรณ์ กล่าวถึง ข้อเสนอให้ปรับกรอบความยั่งยืนการทางคลังใหม่เนื่องจากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่เคยกำหนดไว้เมื่อปี 2553 ที่ต้องการให้จัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2560-2561 กรอบเดิมทำไม่ได้แล้ว ต้องยอมรับข้อเท็จจริงและเหตุปัจจัยต่างๆในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ในสภาวะที่จะทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลดีขึ้น โดยอาจเลื่อนไปให้สามารถดำเนินการให้ได้ภายในปี 2568-2570 โดยต้องเร่งให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามศักยภาพที่ระดับ 4-5% เป็นอย่างน้อย ปรับโครงสร้างภาษีและเพิ่มภาษีทางตรงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาษีที่มีฐานจากทรัพย์สินและภาษีบาป ภาษีธุรกรรมทางออนไลน์ต่างๆ ภาษี E-commerce และการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากแรงงานต่างด้าว เพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สามารถส่งรายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดการรั่วไหลทุจริตคอร์รัปชั่น ตามแผนยุทธศาสตร์กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ได้ทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2553 นั้น ในปีงบประมาณ 2560 นั้นต้องลดการขาดดุลมาอยู่ที่ระดับ 93,000 ล้านบาท และ ทำงบประมาณสมดุลหรือเกินดุลได้ 15,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ณ. เวลานี้ คือ งบประมาณปี พ.ศ. 2560 ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท และ ปี พ.ศ. 2561ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก การลงทุนเหล่านี้เป็นการปูพื้นฐานอนาคตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการบูรณาการในระยะยาวให้ประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องตัดลดค่าใช้จ่าย รัฐบาลควรเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนเพื่อลดภาระทางการคลัง และต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพและลดการรั่วไหล รวมทั้งรัฐบาลจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ความยั่งยืนทางการคลังขึ้นมาใหม่

นายอนุสรณ์ กล่าวเน้นย้ำว่า กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ควรต้องกำหนดขึ้นใหม่นี้ มีความจำเป็นมาก เพราะกรอบเก่าทำไม่ได้แล้ว ต้องกำหนดใหม่เพื่อจะได้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการทางการคลังให้สอดคล้องกับเป้าหมายกรอบความยั่งยืนทางการคลังใหม่ โดยกรอบความยั่งยืนทางการคลังใหม่นี้ ต้องสะท้อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะบริหารประเทศโดยยึดหลักเสถียรภาพและความมีวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพและยั่งยืนขึ้น มีความเสมอภาคและความเป็นธรรมในการจัดสรรผลประโยชน์และงบประมาณให้กลุ่มต่างๆในสังคม ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากการจัดสรรงบประมาณด้วยความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น มีหลักประกันว่า ระบบสวัสดิการต่างๆที่ประชาชนเคยได้รับทั้งเรื่องการศึกษาฟรี สวัสดิการรักษาพยาบาลและบริการทางการแพทย์จะมีงบประมาณในการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง การมีกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่ชัดเจนจะช่วยกำกับไม่ให้มีการสร้างภาระหนี้สินให้กับลูกหลาน ภาระการใช้หนี้ของรัฐบาลในอนาคตและเป็นภาระภาษีในอนาคตต่อประชาชนมากเกินไป รวมทั้ง ให้เกิดหลักประกันและความมั่นใจว่าประเทศจะมีงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ ได้เคยมีการเสนอให้มีการปฏิรูประบบการคลัง ขณะที่ทำหน้าที่เป็นทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เมื่อหลายปีก่อน แต่ข้อเสนอปฏิรูปดังกล่าวไม่มีการดำเนินการ เวลานี้อยากเสนอปฏิรูประบบการคลังเฉพาะในส่วนการปฏิรูปกรมจัดเก็บภาษีใหม่ ไม่จัดสรรงบประมาณให้กรมจัดเก็บแต่ให้มีรายได้จากผลงานการจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร หรือ กรมสรรพสามิต จะไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล แต่จะได้รับส่วนแบ่งจากการจัดเก็บภาษีให้กับรัฐบาล 1-2% ของภาษีที่จัดเก็บได้ ยกตัวอย่าง เก็บภาษีได้ 1 ล้านล้านบาท จะได้รับส่วนแบ่ง 10,000-20,000 ล้านบาท เป็นค่าบริหารจัดการของกรมสรรพากร เช่น เงินเดือนของคณะกรรมการ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สรรพากร รวมไปถึงเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีด้วย หากกรมสรรพากรเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า บอร์ดที่ทำหน้าที่บริหารการจัดเก็บภาษีต้องออกไป หรือ อีกวิธีหนึ่ง คือ การเปลี่ยน กรมจัดเก็บภาษี จากระบบราชการ เป็น องค์กรของรัฐ แบบเดียวกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ตลาดหลักทรัพย์ จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้กับคนทำงานมากขึ้น หรือ ให้สัมปทาน “เอกชน" ในการทำหน้าที่จัดเก็บภาษีแทนรัฐบางส่วนแต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ

นายอนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงขึ้น ไม่หาทางเก็บภาษีเพิ่มหรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปล่อยให้ภาวการณ์ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเกิดความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมากมีมาตรการทางเศรษฐกิจออกมาใหม่อยากให้เน้นมุ่งเป้าไปที่คนยากจน เนื่องจากข้อมูลระหว่างปี 2558-2559 จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 20% เป็นคนยากจนที่เพิ่มขึ้นโดยประเทศไม่ได้มีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอะไรและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมก็กระเตื้องขึ้นอีกด้วย สะท้อนปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำรุนแรงและมาตรการที่ออกมาไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาส่วนนี้ คนจนเมืองเพิ่มขึ้น 24% คนจนชนบทในชนบทเพิ่มขึ้น 17% ทำให้สัดส่วนคนยากจนเทียบกับประชากรทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 7.21% เป็น 8.61% คนจนเมืองที่เพิ่มขึ้นมากเป็นผลจากการไม่ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลาสามปีและเพิ่งปรับในปีนี้โดยเพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ