ครม.อนุมัติหลักการมาตรการสร้างความเป็นกลางทางภาษีกรณีผลตอบแทนจากการฝากเงินตามหลักอิสลาม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 12, 2017 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่...) พ.ศ.... ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร รวม 2 ฉบับ (มาตรการสร้างความเป็นกลางทางภาษี กรณีผลตอบแทนจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลาม) ตามการเสนอของกระทรวงการคลัง

โดยเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนเงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้สอดคล้องกับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนจากเงินฝากประเภทดังกล่าวของสถาบันการเงินอื่น

นายณัฐพร กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ.... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 301) พ.ศ.2539 โดยเพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนที่ได้รับจากเงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลามกับธนาคารในราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 24 เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากัน แต่ไม่เกิน 25,000 บาท/เดือน และรวมแล้วทั้งหมดต้องไม่เกิน 600,000 บาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

นอกจากนี้ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่...) พ.ศ.... ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เป็นการแก้ไขเพิ่มกฎกระทรวง ฉบับที่ 200 (พ.ศ.2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 250 (พ.ศ.2548) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ดังนี้

1. เพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามกับธนาคารในราชอาณาจักรที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเงินฝากประเภทออมทรัพย์ เฉพาะกรณีได้รับผลตอบแทนดังกล่าว และดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรประเภทออมทรัพย์ รวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาทตลอดปีภาษี

2. เพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามกับธนาคารในราชอาณาจักรที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับผลตอบแทนดังกล่าวทุกประเภทหรือดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทแล้ว ต้องไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี และได้รับผลตอบแทนดังกล่าวหรือดอกเบี้ยเงินฝากเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ