(เพิ่มเติม) ครม.อนุมัติปรับอัตราค่าภาระในการยกขนตู้สินค้าทางรถไฟเป็น 376-835 บาท ให้การท่าเรือฯ ทำแทนเอกชน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 13, 2018 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ในการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าภาระโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งการท่าเรือฯ จะเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการในการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟแทนบริษัทเอกชน ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ ก.ค.61 เป็นต้นไป โดยมีการปรับขึ้นอัตราค่าภาระขั้นต่ำ-ขั้นสูงในการยกขนตู้สินค้าเป็น 376 - 835 บาทต่อตู้สินค้าทุกขนาดทุกสภาพ (คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต, ขนาด 40 ฟุต และขนาดมากกว่า 40 ฟุต คิดราคาเดียวกันหมด) จากเดิมที่เอกชนคิดราคาอยู่ที่ 315 บาทต่อตู้คอนเทนเนอร์

"เหตุที่การท่าเรือฯ มาทำแล้วแพงขึ้น เพราะตอนที่เอกชนทำ เป็นแบบตามมีตามเกิด ว่างเมื่อไรก็มาขนสินค้า จึงมีปัญหาในเรื่องของระยะเวลาที่ไม่แน่นอน แต่ในราคาใหม่นี้ การท่าเรือฯ ได้ประชุมกับผู้ใช้บริการแล้วไม่มีใครคัดค้าน ส่วนราคาขั้นสูงนี้ การท่าเรือฯ ชี้แจงว่าไม่เคยได้ใช้อัตราขั้นสูงเลย ใช้แต่ขั้นต่ำ ซึ่งการขึ้นราคาแต่ละครั้งยากเย็นมาก แต่ที่ขอเผื่อไว้นั้น เผื่อในอนาคตมีการปรับต้นทุนต่างๆ ขึ้น เช่น ค่าแรง ค่าน้ำมัน ก็จะได้มีช่องทางสำหรับปรับขึ้นได้ แต่ก็ต้องผ่านคณะกรรมการก่อน" นายณัฐพรระบุ

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้มีการขนส่งสินค้าทางรางมากขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และลดมลพิษได้มากกว่าการขนส่งทางรถบรรทุก

"นโยบายของรัฐบาล ต้องการส่งเสริมการขนส่งทางรางให้มากขึ้น เพื่อลดมลภาวะ และประหยัดต้นทุน การท่าเรือฯ จึงเริ่มสร้างศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนหน้านี้ เมื่อมีการขนส่งของมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือฯ ต้องวานให้เอกชนมาช่วยขนถ่ายสินค้าลงจากรถ แล้วเอาไปไว้ที่ท่าเรือ และขนลงเรืออีกที แต่พอการท่าเรือฯ สร้างตัวนี้เสร็จ ก็จะเป็นเครนคร่อมทางรถไฟ 6 ราง มีปั้นจั่นตรงกลางยกของขึ้นจากรถไฟแล้วเอาไปลงที่รถได้เลย" นายณัฐพรระบุ

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวว่า กรอบโครงสร้างอัตราค่าภาระโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบังดังกล่าว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนถ่าย เป็นระบบกึ่งอัตโนมัติ ยกตู้ขึ้นลงจากรถไฟ ไปยังรถหัวลากได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางด้วยตู้คอนเทนเนอร์จากปัจจุบัน 7% เป็น 15% และจะส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรให้มาใช้ตู้คอนเทนเนอร์มากขึ้นจากเดิมที่จะวิธีเทกอง และอนาคต ท่าเรือเฟส 3 จะมีระบบอัตโนมัติที่จะเพิ่มการรองรับตู้สินค้าจาก 7 ล้านทีอียูเป็น 15 ล้านทีอียูต่อปี

นอกจากนี้ อัตราดังกล่าวถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในอาเซียน จากเดิมที่กทท.มีการกำหนดอัตราค่าภาระขั้นต่ำ-ขั้นสูง ที่ 470 บาท และ 835 บาท และมีการแยกตามขนาดตู้ และประเภทตู้คอนเทนเนอร์

ทั้งนี้ โครงการ SRTO นั้นครม. มีมติเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 อนุมัติ โดยให้กทท. เป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือยกขนหลักทั้งหมด รวมถึงการบริหารและการประกอบการ โดยใช้งบประมาณลงทุนของ กทท. วงเงินรวม 2,944.93 ล้านบาท ซึ่งระยะที่ 1 วงเงิน 2,031.16 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2561 ซึ่ง กทท. มีความจำเป็นต้องกำหนดอัตราค่าภาระที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานโครงการฯ รวมทั้งสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากถนนมาสู่ราง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ