กยท.เตือนชาวสวนยางรับมือสภาพอากาศแห่งช่วงปิดกรีด หมั่นตรวจตราดูแลป้องกันไฟไหม้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 26, 2018 11:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงศักดิ์ ใจสมุทร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการผลิต การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ช่วงหน้าแล้งซึ่งเป็นช่วงที่อากาศร้อน และมีแสงแดดแรง เป็นสาเหตุทำให้ดินแห้งและส่งผลกระทบต่อต้นยางพารา เกษตรกรจึงควรให้ความสำคัญในการดูแลสวนยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวนยางปลูกใหม่ และสวนยางเล็กที่มีอายุไม่เกิน 3 ปี เนื่องจากในต้นยางอ่อนที่รับแดดแรงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เซลล์เนื้อเยื่อส่วนที่รับแสงแดดไหม้เสียหาย และเจริญเติบช้ากว่าปกติ

"แนะนำให้เกษตรกรใช้ปูนขาวผสมน้ำอัตรา 1:2 ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วทาบริเวณลำต้นสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร เพื่อช่วยป้องกันความร้อนจากแสงแดด ป้องกันการสูญเสียน้ำของต้นยางและป้องกันโรคหรือแมลงที่อาจเข้าทำลายได้ในเวลาต่อมา"นายณรงศักดิ์ กล่าว

ส่วยกรณีเปลือกต้นยางบริเวณที่ถูกไฟไหม้แสดงอาการแตกออกมา ให้ใช้มีดคมๆ ปาดเอาส่วนที่เสียหายออก จากนั้นทายาป้องกันเชื้อรา และนำสารเคมีรักษาเนื้อไม้ทาซ้ำอีกครั้ง จะทำให้รอยแผลหายสนิทได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ หากต้นยางในสวนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จนไม่อาจรักษาหน้ายางได้เกิน 40% ของทั้งสวนเกษตรกรควรทำการปลูกใหม่

"เกษตรกรชาวสวนยางควรกำจัดวัชพืชในสวนยาง ออกจากบริเวณแถวยางข้างละ 1 เมตร พร้อมทั้งหาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ซากวัชพืช หญ้าคา หรือฟางข้าว มาคลุมโคนต้นยางเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดิน รวมถึงตัดแต่งกิ่งต้นยางเพื่อลดแรงต้านลม และใช้ปูนขาวทาบริเวณที่ตัดแต่งกิ่ง ซึ่งการหมั่นตรวจตราดูแลสวนยางอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภั ยแล้งได้ นอกจากนี้ ควรทำแนวกันไฟในสวนยางเพื่อป้องกันไฟลุกลามจากบริเวณใกล้เคียง และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในหน้าแล้ง เพราะวัชพืชที่แห้งตายอาจเป็นเชื้อเพลิงทำให้เกิดไฟไหม้สวนยางได้"

นายณรงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรชาวสวนยางสามารถปลูกพืชแซมในสวนยาง อาทิ กล้วยและสับปะรด เพราะสามารถให้ความชุ่มชื้นกับดิน และช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับพี่น้องชาวสวนยางระหว่างช่วงปิดกรีดอีกทางหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ