แกรนท์ ธอนตัน เผยผลสำรวจหญิงไทยก้าวขึ้นตำแหน่งผู้บริหารสูงขึ้นรั้งอันดับ 3 ของโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 8, 2018 10:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แกรนท์ ธอนตัน รายงานผลสำรวจธุรกิจนานาชาติประจำปีเกี่ยวกับสัดส่วนผู้บริหารหญิงในประเทศไทยปี 61 พบว่า เพิ่มสูงขึ้นติดอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยแนวโน้มตัวเลขผู้บริหารหญิงในไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง

ผลสำรวจพบว่า สัดส่วนผู้บริหารหญิงของไทยในปีนี้ขยับสูงขึ้นอยู่ที่ 42% เป็นอันดับที่ 3 ของโลก เพิ่มจากปีก่อนอยู่ที่ 31% แต่ยังเป็นรองฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยฟิลิปปินส์มีสัดส่วนผู้บริหารหญิงสูงเป็นที่ 1 ของโลก อยู่ที่ 47% รองลงมาคืออินโดนีเซียเป็นอันดับ 2 ที่ 43% โดยในปีนี้ 3 อันดับแรกของโลกต่างเป็นประเทศในทวีปเอเชียทั้งหมด ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้บริหารหญิงต่ำที่สุดในโลก ซึ่งมีเพียง 5% เท่านั้น

ขณะที่ผลสำรวจยังได้ระบุถึงอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนผู้หญิงในฐานะผู้บริหารระดับสูงมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและการโรงแรม สูงถึง 33% ในขณะที่ธุรกิจด้านก่อสร้างมีตัวสัดส่วนดังกล่าวน้อยที่สุดเพียง 19%

นางจุฬาภรณ์ นำชัยศิริ กรรมการผู้จัดการสายงานที่ปรึกษาด้านการเงิน แกรนท์ ธอนตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้บทบาทของผู้หญิงได้เปลี่ยนไปจากเดิม ทั่วโลกต่างให้การส่งเสริมและยอมรับในศักยภาพของผู้หญิงมากขึ้น หลายประเทศทั้งในภูมิภาคเอเชียและทวีปอื่นๆ อย่าง ไต้หวัน พม่า เนปาล โครเอเชีย มอริเชียส ไปจนถึงลิทัวเนีย ได้มีการเลือกผู้นำหญิงขึ้นดำรงตำแหน่งต่างๆ ในการบริหารประเทศ

รวมถึงบทบาทของผู้หญิงในประเทศที่กำลังพัฒนาก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนภาคอุตสาหกรรมที่มีแต่ผู้ชายเป็นแรงงานหลัก นับว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ แต่จากสถิติตัวเลขของ Global Finance ปีล่าสุดชี้ว่าปัจจุบันภาคบริการซึ่งมีแรงงานผู้หญิงเป็นกำลังหลักได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนตัวเลขจีดีพีของประเทศแทนที่ภาคอุตสาหกรรม และยังพบว่าทุกแรงงาน 100 คน ของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีแรงงานสตรีสูงถึง 83 คน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมที่ให้โอกาสผู้หญิงมากขึ้น

สำหรับในประเทศไทย ผลการสำรวจระบุว่าระหว่างปี 60-61 ตัวเลขผู้บริหารหญิงเพิ่มสูงขึ้นกว่า 11% โดยปี 60 อยู่ที่ 31% ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะสัดส่วนผู้บริหารในองค์กรที่มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย จะสามารถสร้างผลกำไรได้ดีกว่าองค์กรที่เลือกเพียงเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของสภาเศรษฐกิจโลกระบุว่า ที่ผ่านมาโลกพยายามลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศชายกับเพศหญิงที่มีถึง 59% ในภาคเศรษฐกิจ และ 29% ในภาคการเมือง เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปผู้หญิงได้มีโอกาสก้าวขึ้นมาอยู่ในบทบาทที่สำคัญทางสังคมมากขึ้น มีความเท่าเทียมกับผู้ชาย ทั้งการเป็นผู้นำประเทศ ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เราจะเห็นว่าในบางประเทศจำนวนผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย ดังนั้นหากไม่มีการปิดกั้นโอกาสในด้านการทำงาน ปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลนก็อาจจะลดลง

"ปัจจุบันวัฒนธรรมทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป มีการให้โอกาสผู้หญิงมากขึ้นทั้งในเรื่องการศึกษา หรือ การทำงาน ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่จบการศึกษาในระดับสูงไม่ต่างจากผู้ชาย เพราะสังคมไม่มีการปิดกั้นหรือแบ่งแยก โลกจึงให้บทบาทกับผู้หญิงมากขึ้นซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากผู้หญิงได้รับสิทธิและการส่งเสริมที่เท่าเทียมกับผู้ชายแล้วบวกกับความคิดและความสามารถที่ผู้หญิงมีอยู่ ก็น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยให้แต่ละประเทศสามารถเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในด้านต่างๆ ที่สูงขึ้นกว่าเดิม" นางจุฬาภรณ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ