(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.เผยบาทแข็งค่าสอดคล้องทุกสกุลจากความกังวลปัจจัยสหรัฐกดดันดอลลาร์อ่อนค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 15, 2018 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในระยะนี้เกิดขึ้นกับทุกสกุล สาเหตุหลักมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเป็นสำคัญ ทั้งจากปัจจัยการปลด รมว.ต่างประเทศของสหรัฐ และนโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ นักลงทุนคาดว่าสหรัฐจะมีมาตรการยาแรง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเร็ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่สามารถทำนโยบายได้อย่างที่คาด แม้สหรัฐจะเศรษฐกิจดี มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ความมั่นใจของนักลงทุนและมุมมองตลาดก็เปลี่ยนไป ขณะที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจเอเชีย ยุโรป มีความชัดเจนเงินที่คาดว่าจะลงทุนในสหรัฐก็กระจายไปยังภูมิภาคอื่นมากขึ้น

"มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ว่า ธปท.ไม่ทำอะไรกับเงินร้อน โดยข้อเท็จจริงที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลเข้าทั้งหุ้น และพันธบัตรกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 4.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 10% ของ GDO ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ ธปท.ไม่ต้องการกำหนดให้ค่าเงินอยู่ในระดับใด ที่ทำคืออาจจะช่วยเข้าไปชะลอไม่ให้ค่าเงินเคลื่อนไหวเร็วเกินไป เพราะความผันผวนจะยังคงมีสูงขึ้นเรื่อยๆ ภาคเอกชนอย่าชะล่าใจว่าจะมีใครมาดูแล การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีความจำเป็น" นายวิรไท กล่าว

ผู้ว่า ธปท. ระบุว่า ธปท.อยู่ระหว่างแก้ไข ร่างพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 1 โดยสาระสำคัญเพื่อต่ออายุกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และเพิ่มกลไกอำนาจให้เข้าไปแก้ไขปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินให้ครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น ในกรณีที่สถาบันการเงินมีปัญหาวิกฤติจะต้องไม่ตกเป็นภาระของภาครัฐอย่างที่ผ่านมา คนที่รับภาระจะต้องเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากสถาบันการเงิน ซึ่งบริหารโดยกองทุนฟื้นฟูเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายได้มีการสำรวจความเห็นจากสถาบันการเงินในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พิจารณาว่าการดำเนินการของธนาคารใดที่ยังเป็นช่องโหว่และไม่เท่าทันโลก ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข โดยศึกษากรณีวิกฤติสถาบันการเงินในช่วงปี 2008-2009 เพื่อให้มีกลไกควบคุมและเครื่องมือดูแลที่รอบด้านมากขึ้น

"ยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมาย ไม่ได้หมายความว่ามีสถาบันการเงินเจอปัญหาวิกฤติ ธปท.หวังว่าจะไม่ต้องใช้ แต่ต้องเตรียมพร้อมไว้สำหรับอนาคต ซึ่งหลายประเทศก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ