นักกฏหมายแนะรัฐทบทวนเก็บภาษีจากคริปโตเคอเรนซี หวั่นนลท.ย้ายเทรดต่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 16, 2018 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไอที กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล และร่างแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อการจัดเก็บภาษีรายได้และเงินปันผลที่เกิดจากการลงทุนเงินสกุลดิจิทัลว่า ในภาพรวมตัวพ.ร.ก.น่าจะพอไปได้ ในส่วนประมวลรัษฎากรรัฐบาลน่าจะถอยมารอดูจังหวะน่าจะเหมาะมากกว่า เรื่องภาษีเป็นเรื่องที่จัดเก็บลำบาก ยิ่งเมี่อกลไกของการเทรดซับซ้อนยิ่งต้องดูให้ดี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการไล่นักลงทุนออกไปจากประเทศกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

"ถ้าพ.ร.ก.ดูแค่การควบคุมการหลอกลวงประชาชนน่าจะพอ แต่ถ้าไปแตะถึงการลงทะเบียนคนเทรด และจะเก็บภาษีจะเป็นการไล่ไม่เอาธุรกิจประเภทนี้สุดท้ายจะกลายเป็นผลเสียไม่ใช่ผลดี" นายไพบูลย์กล่าว

พร้อมยกตัวอย่างประเทศสหรัฐฯ ที่ยังจับตาดูเรื่อง ICO ว่าจะมีการเติบโตอย่างไร ซึ่งตลาดใหญ่อยู่ในจีนและเกาหลี สหรัฐฯ จึงแค่ออกประกาศเตือนแต่ยังไม่ควบคุม ส่วนการทำ Data mining กับการทำข้อตกลงล่วงหน้าในการซื้อขาย (Future) เป็นสิ่งที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐให้การสนับสนุน ดังนั้นไทยน่าจะรอดูก่อน การป้องกันการฉ้อโกงเป็นเรื่องดี แต่การจัดเก็บภาษีเร็วไปน่าจะไม่ส่งเสริมการลงทุนและไม่ส่งเสริมไทยแลนด์ 4.0

โดยมีประเด็นที่น่ากังวล 3-4 ประเด็น คือ 1.การที่รัฐเข้าไปควบคุมผู้ประกอบการโดยให้มีการลงทะเบียนเพื่อป้องกันการหลอกลวงเป็นเรื่องที่ดี ส่วนการที่จะเก็บภาษีจากเงินดิจิทัลน่าจะเป็นปัญหา เพราะประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานกลางที่จะดูแลเรื่องนี้ ประกอบกับยังมีบุคคลากรไม่มากที่เชี่ยวชาญหรือเข้าใจเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะการดูแลการขึ้น-ลงของค่าเงินประเภทนี้ สกุลเงินดิจิทัลยังมีหลายสกุลมีการขึ้นลงเร็ว การกำหนดเกณฑ์ในการดูแลทำได้ยาก ส่วนใหญ่การทำงานจะรันบนแพลตฟอร์มที่เป็นอุปกรณ์โมบาย การจะไปคำนวณเพื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายจึงทำไม่ได้เลย

2. ความพยายามเก็บภาษีจาก e-Commerce ที่ผ่านมารัฐไม่มีกลไกและบุคลากรที่จะเก็บภาษีอย่างมีคุณภาพได้เลย คริปโตเคอเรนซี่จะยิ่งน่ากังวลกว่า เพราะเป็นแอพพลิเคชั่น การจะมาประเมินมูลค่าจึงทำได้ยาก โดยเฉพาะราคากลาง เพราะแต่ละประเทศอ้างอิงและกำหนดมูลค่าแตกต่างกัน

3. การควบคุมถ้าดูแลอย่างไม่เคร่งครัดเพียงกำหนดกรอบกว้างๆ ให้แข่งขันได้ เงินดิจิทัลจะเติบโต แต่ถ้ามีการควบคุมมากเกินไปเอกชนจะออกไปเทรดในต่างประเทศมูลค่าธุรกรรมจะไหลออกไปอยู่ต่างประเทศ ถ้ากฎหมายเข้มจะเป็นการไล่แขก การตั้งเซิร์ฟเวอร์และการเทรดจะไปอยู่ต่างประเทศทั้งหมด สุดท้ายสิ่งที่อยู่ในประเทศไทยจะเป็นเพียงโฮสติ้ง เหมือนเช่นเฟสบุ๊ก กูเกิ้ล หรือโซเชียลมีเดียที่เซิร์ฟเวอร์อยู่เมืองนอก การเป็นโฮสติ้งไม่ผิดกฎหมาย และไม่สามารถเก็บภาษีอะไรได้เลย

4.เมื่อดูนิยามของร่างกฎหมายจะแตะเพียงแค่เงินดิจิทัล ไม่ได้ข้ามไปถึงการทำ Data mining (เหมืองข้อมูล) เรื่องสกุลเงินดิจิทัลครอบคลุมไปถึงการทำเหมือนขุดบิดคอยน์ เมื่อดูในภาพกว้างยังครอบคลุมถึงการทำธุรกิจชำระเงินด้วยบิดคอยน์ซึ่งเป็นสิทธิของเอกชนจะทำได้ ดังนั้นการเขียนกฎหมายกว้างๆ น่ะจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ