ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้พ.ร.ก.เก็บภาษีทรัพย์สินดิจิทัลช่วยลดการเก็งกำไรในระยะสั้น ดูแลความเสี่ยงของระบบในภาพรวม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 16, 2018 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 มี.ค.61 ได้อนุมัติร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ.... เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล ซึ่งหลังจากนี้ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อีกครั้ง เพื่อรอประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปนั้น ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นหนึ่งในกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่ทางการไทยเตรียมทยอยบังคับใช้ ซึ่งสะท้อนความตั้งใจของรัฐบาลในการวางกรอบกติกาที่ชัดเจนให้สำหรับการลงทุนชนิดใหม่นี้ และเป็นการดูแลความเสี่ยงของระบบในภาพรวม ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีกฎหมายเฉพาะเจาะจงสำหรับการจัดการภาระภาษีเนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายใหม่นี้ จะครอบคลุมทั้งการกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล การจัดจำแนกประเภทเงินได้จากการลงทุนในทรัพย์สินดิจิทัล ตลอดจนการตั้งอัตราภาษีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1.การจัดประเภททรัพย์สินดิจิทัล มีความชัดเจน สอดคล้องกับสากล โดยร่างกฎหมายจะจำแนกประเภททรัพย์สินออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ -คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ซึ่งมีมูลค่าอันถือเอาได้ ไม่ต้องมีการอ้างอิงเงินตราอื่นใด และใช้ซื้อ-ขายสินค้าและบริการต่างๆ โดยทั่วไปได้ -โทเคนดิจิทัล (Digital Tokens) ซึ่งให้สิทธ์แก่ผู้ถือในการแลกเปลี่ยนโทเคนกับสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ระหว่างผู้ออกและผู้ถือโทเคน -ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ทางกระทรวงการคลังจะกำหนดในอนาคต

การจัดประเภททรัพย์สินดิจิทัลดังกล่าว มีความสอดคล้องกับทางการประเทศอื่น เช่น ก.ล.ต. ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (FINMA) ซึ่งแบ่งแยกทรัพย์สินดิจิทัล ซึ่งเป็นเสมือน "เงินตรา" ที่ใช้ซื้อขายสินค้าและบริการได้ในความหมายที่กว้างกว่า "โทเคน" ซึ่งให้สิทธิผู้ถือในสินค้าหรือบริการในขอบเขตที่จำกัดกว่า โดยการที่ทางการไทยระบุข้อที่สามไว้ ก็เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและสามารถรองรับพัฒนาการของทรัพย์สินดิจิทัลที่อาจมีประเภทใหม่ๆ เกิดขึ้นในอนาคต

2. กฎหมายมีการระบุถึงการเก็บภาษีบนรายได้จากทรัพย์สินดิจิทัล โดยร่างกฎหมายได้เพิ่มประเภทย่อยของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) โดยให้รวมถึงรายได้จากทรัพย์สินดิจิทัลสองประการ ประการแรก เงินส่วนแบ่งกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้จากทรัพย์สินดิจิทัล และ ประการที่สอง รายได้จากการซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมากกว่าเงินลงทุน ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับหุ้นแล้ว ภาษีชนิดแรกจะเปรียบเสมือนเงินปันผล (Dividends) ในขณะที่ ภาษีชนิดที่สองจะเก็บบนราคาที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น Capital Gains จากการซื้อหุ้น (แต่ในกรณีของไทย ไม่มีการเก็บภาษี Capital Gain Tax จากรายได้การซื้อขายหุ้นของนักลงทุนรายย่อย) อันเท่ากับเป็นปูทางให้สามารถกำหนดอัตราภาษีบนรายได้จากทรัพย์สินดิจิทัลได้อย่างตรงไปตรงมา

สำหรับรายได้จากทรัพย์สินทั้ง 2 ชนิดนี้ กฎหมายได้กำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่นักลงทุนต้องจ่าย อยู่ที่อัตรา 15% โดยหัก ณ ที่จ่าย และนักลงทุนยังต้องนำไปรวมในการคำนวณฐานเงินได้สุทธิประจำปีเพื่อเสียภาษีในภายหลังด้วย อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้างต้นนี้ยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลง ขึ้นกับกฎหมายสุดท้ายที่ผ่านขั้นตอนต่างๆแล้ว รวมถึงกฎกระทรวงที่อาจมีการประกาศตามมาในภายหลัง ขณะที่กระทรวงการคลังยังมีแนวทางกำหนดอัตราภาษีเงินได้ในกรณีนิติบุคคล ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนเช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จะพบความสอดคล้องกันของเกณฑ์ด้านภาษีตรงที่มีการเพ่งเล็งไปที่การซื้อขายเก็งกำไรระยะสั้นเป็นสำคัญ (โดยนักลงทุนที่มีการซื้อขายค่อนข้างถี่ก็จะเผชิญภาระภาษีมาก ยกตัวอย่าง ประเทศเยอรมนี ซึ่งกำหนดว่าในกรณีที่ผู้ซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัลทำการซื้อและขายทรัพย์สินดิจิทัลชนิดใดหนึ่งภายในหนึ่งปี และทำกำไรจากการซื้อและขายทรัพย์สินดิจิทัลเกินกว่า 800 ยูโร จะต้องเสียภาษี Capital Gains ในอัตรา 25% แต่หากนักลงทุนเก็บเหรียญดิจิทัลไว้เกินหนึ่งปีก็จะไม่ต้องเสียภาษี เป็นต้น)

นอกจากนี้ ยังพบความสอดคล้องกันอีกประการหนึ่ง คือ ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งออกกฎหมายด้านภาษี ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี สหราชอาณาจักร หรือสหรัฐฯ ไม่ได้ห้ามการซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัล อันแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของทางการที่ไม่ได้มุ่งจำกัดการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าว และเปิดโอกาสให้เกิดตลาด ICO เพื่อเป็นทางเลือกในการระดมทุนของกิจการ โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ และธุรกิจด้านเทคโนโลยี บนความคาดหวังของต่อพฤติกรรมการลงทุนในลักษณะที่เอื้อต่อการเติบโตของตลาดอย่างมีเสถียรภาพ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่มาก เพราะตลาดปัจจุบันยังมีขนาดเล็ก โดย ณ วันที่ 14 มีนาคม 2561 ตลาด bx.in.th ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายเงินสกุลดิจิทัล (Exchange) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีมูลค่าการซื้อขาย 291.2 ล้านบาท หรือเพียง 0.37% ต่อมูลค่าการซื้อขายรายวันของตลาดหลักทรัพย์ไทย (78,221.2 ล้านบาท) แต่อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ของหลายประเทศสะท้อนว่า หากปล่อยให้ตลาดทรัพย์สินประเภทนี้เติบโตบนจุดประสงค์การลงทุนที่เน้นการเก็งกำไรในระยะสั้นเป็นหลัก ก็อาจสร้างความเสี่ยงทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตได้

สำหรับผลกระทบต่อนักลงทุน การที่มีการประกาศอัตราภาษีเช่นนี้อาจดูเหมือนเป็นข่าวลบ แต่จริงๆ แล้ว แม้ปัจจุบันจะไม่ได้มีการระบุอัตราภาษีที่ชัดเจนจากผลประโยชน์ที่ได้รับจากทรัพย์สินดิจิทัล แต่นักลงทุนก็มีหน้าที่ต้องรวมผลประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แล้ว ภายใต้กฎเกณฑ์ภาษีปัจจุบัน ทางกรมสรรพากรได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่ามีเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษี 127 กรณี เช่น เงินได้จากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนเงินได้ที่เหลือ บุคคลผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการและชำระตามอัตราที่ถูกต้องตามฐานรายได้ ซึ่งหมายความว่า เงินได้จากการซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัลไม่เข้าข่ายกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นดังกล่าว หรือสรุปได้ว่าก่อนหน้าที่จะมีมาตรการภาษีเจาะจงสำหรับทรัพย์สินดิจิทัลนี้ นักลงทุนก็มีภาระทางภาษีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจไม่ทราบ และ/หรือไม่ได้ตระหนัก ดังนั้นการออกกฎหมายระบุอัตราภาษีที่ชัดเจน จึงทำให้นักลงทุนรายย่อยตระหนักถึงภาระด้านภาษีของตน ตลอดจนสามารถคิดคำนึงถึงข้อดีและข้อเสียของการลงทุนในทรัพย์สินดิจิทัลได้อย่างครบถ้วนและชัดเจนมากขึ้นด้วย

สำหรับผลกระทบต่อกิจการหรือบริษัทที่ระดมทุนด้วยช่องทาง ICO การออกกฎหมายนี้ เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่ต้องการระดมทุนผ่าน ICO ด้วยการลดการซื้อขายเก็งกำไรในระยะสั้น (Speculative Trading) โดยกิจการที่ออก ICO จะได้รับประโยชน์ผ่านการลดความเสี่ยงที่ราคาโทเคนดิจิทัลจะผันผวน จากการที่นักเก็งกำไรเทขายหลังจากการระดมทุน ซึ่งปัจจุบันก็เป็นประเด็นถึงขั้นที่ทาง ก.ล.ต. สหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนถึงความแปรปรวนของราคาจากปัจจัยดังกล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่าที่ผ่านมากิจการผู้ออก ICO ในไทยอาจยังไม่มีนโยบายเก็บเงินทุนในรูปสกุลเงินที่ระดมทุนผ่าน ICO นัก แต่ในกรณีต่างประเทศ จะปรากฏกระแสสนับสนุนพฤติกรรมลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า การโน้มน้าวนักลงทุนให้เน้นการลงทุนระยะยาวมากขึ้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อตัวกิจการเช่นกัน ส่งผลตามมาให้กิจการสามารถเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนสินค้าและบริการตามแผนได้อย่างเต็มความสามารถ

สรุปแล้ว ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นหนึ่งในกฎเกณฑ์สำคัญที่ทางการไทยเตรียมทยอยประกาศออกมาในอนาคต ซึ่งแม้จะต้องรอบทสรุปของรายละเอียดท้ายสุดหลังร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ก็ยังย้ำเจตนารมณ์ของทางการไทยในการดูแลทรัพย์สินดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วนี้อย่างเป็นระบบ โดยมุ่งให้เกิดเสถียรภาพของตลาด ผ่านการสนับสนุนการลงทุนระยะยาวมากกว่าการเก็งกำไร ขณะเดียวกัน ก็ไม่เป็นการปิดกั้นทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุน และกิจการที่ต้องการระดมทุน โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพและบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในยุค 4.0 แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นภาพการกำกับดูแลที่ครบถ้วน จึงยังคงต้องติดตามกฎเกณฑ์ที่กำลังจะออกมาในอนาคตอย่างใกล้ชิดด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ