เอกชน จี้รัฐจัดทำยุทธศาตร์จัดการข้าวโพด หวั่นไทยเจอประวัติศาสตร์ซ้ำรอยประมง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 21, 2018 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมียุทธศาตร์การจัดการข้าวโพด เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ทั้งห่วงโซ่การผลิตอาหาร หากภาครัฐยังไม่เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยด่วน คาดว่าจะเกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบภายใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจสอบย้อนกลับที่มาของอาหาร ดังเช่นที่ปรากฏในอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทย ในกลุ่มปศุสัตว์ก็เช่นกัน การตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของวัตถุดิบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะถูกนำมาเป็นเงื่อนไขในการสั่งซื้อสินค้าของคู่ค้าในสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ ภาครัฐ จำเป็นต้องเป็นตัวกลางในการดูแลระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนับเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวโพดยั่งยืนเดินหน้าต่อไปได้ ก่อนที่จะสายเกินแก้ และต้องเสียรู้ให้ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันการค้าของประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

"สมาคมฯ มุ่งพัฒนากระบวนการผลิตข้าวโพดบนพื้นที่ที่ถูกต้อง ไม่บุกรุกป่า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีความพยายามสื่อสารให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ได้ทราบถึงกระแสการค้าโลกที่มุ่งเน้นในเรื่องการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ตลอดจนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำคู่มือมาตรฐานการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืนขึ้น ภายใต้การสนับสนุนทุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รวมถึง พยายามผลักดันให้มีการบังคับใช้มาตรฐาน GAP ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีการหารือกับกระทรวงเกษตรฯหลายครั้ง แต่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ขณะที่สมาคมฯ มีแผนจะรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีเอกสารถูกต้องเพิ่มมากขึ้นในต้นปีหน้า" นายพรศิลป์ กล่าว

ที่ผ่านมา สมาคมฯได้แสดงเจตจำนงค์อย่างชัดเจนที่จะไม่รับซื้อข้าวโพดในพื้นที่รุกป่า เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และยังพยายามช่วยรัฐหาทางออก โดยร่วมเสนอยุทธศาตร์การจัดการข้าวโพดกับภาครัฐ และมีภาครัฐ อาทิ คู่มือ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นแม่งานที่ดำเนินการจัดทำทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในฤดูกาลผลิต ปี 2560/61

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จะเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับที่มาของวัตถุดิบ เพื่อตรวจสอบที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งพื้นที่เพาะปลูก รวมถึง สถานะการซื้อ-ขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่นั้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลกลางให้ภาคธุรกิจทำไปใช้ประโยชน์ แต่จนถึงขณะนี้ระบบดังกล่าวก็ยังไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในลักษณะที่พ่อค้าพืชไร่สามารถใช้เอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินฉบับเดียวไปใช้ซ้ำหลายรอบ ประกอบการขายข้าวโพดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ในปริมาณเกินจริง หมายความว่า ข้าวโพดรุกป่าจะถูกสวมสิทธิ์ว่าเป็นข้าวโพดที่ปลูกบนพื้นที่ถูกต้อง ก่อให้เกิดข้อเสียตามมามากมาย โดยเฉพาะประเด็นการทำลายสิ่งแวดล้อมที่จะยังคงไม่ได้รับการแก้ไข และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อราคาข้าวโพดสูงเป็นประวัติศาสตร์ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปัญหามลพิษด้านหมอกควัน

"เรามีความกังวลว่าหากการพัฒนาระบบดังกล่าวล่าช้าจะก่อให้เกิดเป็นปัญหาเช่นเดียวกับ IUU ที่อุตสาหกรรมประมงของไทยต้องประสบ ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจประมงต้องปรับตัวกันยกใหญ่ และเกิดความเสียหายไปมิใช่น้อย สมาคมฯ จึงขอเสนอให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งเดินหน้าจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงการออกใบรับรองการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่นเดียวกับที่ กรมประมงออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำไทยอย่างเร่งด่วนที่สุด" นายพรศิลป์ กล่าว

อนึ่ง ข้อมูลกรมพัฒนาที่ดินปี 2556 ระบุว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 7.84 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า 3.72 ล้านไร่ และไม่เหมาะสมในการเพาะปลูก 0.89 ล้านไร่ เหมาะสมน้อยอีก 1.32 ล้านไร่ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่ง ต้องเลิกปลูกข้าวโพด เพราะผิดกฏหมายและปลูกไปก็ไม่ได้ผลผลิตที่ดี การใช้พื้นที่เพาะปลูกที่ไม่เหมาะสมนี้คือต้นตอของปัญหาการด้อยประสิทธิภาพในการผลิตข้าวโพดไทย ทำให้ไม่สามารถพัฒนาผลผลิตเฉลี่ยของทั้งประเทศได้ทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ