ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดตลาดไทยเที่ยวไทยปีนี้คึกคัก รับอานิสงส์ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม-มาตรการภาษีเมืองรอง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 11, 2018 10:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์ตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 นี้ บรรยากาศคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง จากแรงหนุนหลายประการ ทั้งจากเทศกาลและวันหยุดยาวต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงงานเทศกาลสงกรานต์ที่คนไทยจะเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาเพื่อร่วมประเพณีสงกรานต์ รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวเช่นกัน

สำหรับการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งกลับมาจัดงานกันอย่างคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะการจัดงานในปีนี้สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งเป็นไปในรูปแบบของประเพณีไทย ซึ่งกระแสการท่องเที่ยวรูปแบบวัฒนธรรมไทยกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยขณะนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วง 7 วัน (ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2561) ของการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ น่าจะก่อให้เกิดรายได้ในตลาดไทยเที่ยวไทยเป็นมูลค่าประมาณ 15,585.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเฉพาะที่หนุนการเติบโตของตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 นี้ คือ ความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่กลับมาเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวไทย อาทิ จ.กรุงเทพฯ และ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาล่าสุด พบว่า ในเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมีประมาณ 12.48 ล้านคน-ครั้ง เติบโต 4.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สำหรับการใช้จ่ายในด้านการท่องเที่ยวของคนไทยกระจายลงสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องเป็นมูลค่าประมาณ 91,445.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.0% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการที่ภาครัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวรอง ซึ่งช่วยทำให้การท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด มีการเติบโตดีขึ้น

และจากปัจจัยข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 นี้ มูลค่าตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 515,000 ล้านบาท ขยายตัว 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางเที่ยวในประเทศมีประมาณ 74.8 ล้านคน-ครั้ง เติบโต 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในปี 2561 นี้ ภาครัฐให้ความสำคัญในการกระตุ้นตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันรายได้ตลาดไทยเที่ยวไทยให้มีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่มีมูลค่า 9.30 แสนล้านบาท ในปี2560 ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในนโยบายสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย คือ มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด อาทิ น่าน พิษณุโลก เชียงราย อุดรธานี เลย หนองคาย ลพบุรี สุพรรณบุรี สตูล ตรังและระนอง เป็นต้น สำหรับมาตรการหักลดหย่อนภาษีครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยนักท่องเที่ยวที่เสียภาษีบุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่เป็นค่าที่พัก ในโรงแรมที่จดทะเบียนตามกฎหมาย หรือที่พักรูปแบบโฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐานรองรับของกรมการท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายในการใช้ธุรกิจนำเที่ยวมาหักลดหย่อนภาษีรวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยทำให้เมืองท่องเที่ยวรองเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 นี้ บรรยากาศในประเทศที่ยังเอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ กอปรกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวทั้งโรงแรม ที่พัก และธุรกิจสายการบินยังทำการตลาดกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทย ทำให้ตลาดไทยเที่ยวไทยยังมีแนวโน้มที่เป็นบวกต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดของภาครัฐ จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 นี้ ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรมและที่พัก ซึ่งรวมถึงที่พักแบบโฮมสต์ยและธุรกิจนำเที่ยวที่อยู่ใน 55 จังหวัด ที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ อาจจะต้องใช้โอกาสนี้ในการทำตลาดประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวในเมืองรองอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างเมืองท่องเที่ยวหลัก ซึ่งการตลาดอาจจะทำได้หลายรูปแบบ อาทิ การสื่อสารและการจัดกิจกรรมการตลาดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้และเพื่อให้นักท่องเที่ยวเลือกเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้

ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ยังคงเดินทางท่องเที่ยวยังเมืองท่องเที่ยวหลัก 22 จังหวัด (จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยทั้งหมด) เนื่องจากเมืองท่องเที่ยวหลักมีสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวหลากหลาย อีกทั้งยังมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในพื้นที่ กอปรกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับการเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไทยไปยังเมืองท่องเที่ยวรองเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า หลายจังหวัดยังมีโจทย์ที่ต้องพัฒนา อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบการขนส่งสาธารณะในจังหวัดให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ทั้งนี้ ในบางจังหวัดอาจจะมีข้อจำกัดของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรรมชาติแต่มีจุดเด่นการท่องเที่ยวเชิงชุมชนและวัฒนธรรม ซึ่งสามารถที่จะนำมาพัฒนาต่อยอดด้านการท่องเที่ยว ที่กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวขณะนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักอาจจะมีการปรับปรุงรูปแบบที่พักที่มีความหลากหลายเพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ อย่างการผสมผสานความเป็นท้องถิ่นและความทันสมัยเข้าด้วยกัน เป็นต้น อนึ่ง ในอนาคต หากการท่องเที่ยวในเมืองรองได้รับการตอบรับมากขึ้นผ่านการดำเนินการทั้งจากภาครัฐและเอกชนก็คาดว่าสัดส่วนนักท่องเที่ยวไทยที่ท่องเที่ยวใน 55 จังหวัดเมืองรอง มีแนวโน้มจะเพิ่มมากกว่า40% ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ จากการที่มีการส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายแห่ง ทำให้นักท่องเที่ยวไทยมีการเดินทางท่องเที่ยวกระจายไปยังสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่นกัน ซึ่งนัยหนึ่งเป็นผลดีต่อพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่นั้นๆ แต่ก็อาจจะมีผลต่อแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่อาจจะได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ชะลอลง ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวคงจะต้องเตรียมแผนการตลาดกระตุ้นการรับรู้อย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ