นักวิชาการ คาดประมูลคลื่นรอบใหม่อาจมีแค่รายเดียว-เชื่อผู้ประกอบการร้องทบทวนราคาตั้งต้นประมูลคลื่นที่เหลือ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 23, 2018 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงการประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1,800 เมกะเฮิตร์ซ (MHz) ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันที่ 25 เม.ย.นี้จะพิจารณาจัดการประมูลว่า หากมีการจัดประมูลมีความเป็นไปได้ทั้งโอกาสที่จะเข้าประมูลครบทั้งสามราย หรือไม่ครบทั้งสามราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปัจจัยหลายประการ

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเชื่อว่าผู้ประกอบการรายที่คลื่นกำลังจะหมดสัมปทาน คือ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) น่าจะเข้าร่วมประมูล ส่วนอีกสองราย คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.ทรู คอรปอเรชั่น (TRUE) ที่มีคลื่นอยู่ในมือมากพอที่จะให้บริการ อาจจะไม่เข้าร่วมประมูล

นายสืบศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญ คือ ผลตอบรับคำเรียกร้องที่ขอให้รัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา 44 ขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 4 ให้กับผู้ชนะประมูลคลื่นทั้ง 2 รายในครั้งก่อนคือ TRUE และ ADVANC ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่ามีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมประมูลคลื่นครั้งใหม่ดังกล่าว

ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะเรื่องต้นทุนของธุรกิจอย่างเดียว การขยายเวลาหรือไม่ขยายเวลาย่อมมีผลต่อต้นทุนทางธุรกิจ ตรงนี้เอกชนจะตัดสินใจเองว่าจะทำอย่างไร ถ้าพิจารณาเฉพาะคลื่นย่าน 1800 MHz ที่ กสทช.แบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ความน่าจะเป็น คือ การประมูลอาจจบที่คลื่นไม่ได้ถูกประมูลออกไปทั้ง 3 ใบอนุญาต อาจมีเพียง 1 หรือมากสุด 2 ใบอนุญาตที่มีผู้สนใจเข้าประมูล หาก TRUE และ ADVANC ไม่เข้าร่วมประมูล โดยปล่อยให้ DTAC ประมูลไป เพราะเมื่อประมูลไปแล้วก็ถือว่ามีต้นทุนที่แบกรับพอๆกัน คลื่นประมูลไม่ออกจะถูกพักไว้ไม่นำออกประมูลทันที ถึงตอนนั้นอาจจะมีการเรียกร้องให้ทบทวนราคาตั้งต้นใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงก่อนจะเปิดประมูลอีกครั้งในระยะต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ