(เพิ่มเติม) CEO Survey คาดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 61 ดีขึ้นโตในช่วง 3-4% เกื้อหนุนผลประกอบการ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 26, 2018 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (CEO Survey) โดยพบว่า CEO คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 61 มีแนวโน้มดีขึ้น โดยน่าจะเติบโตในช่วง 3-4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ การท่องเที่ยว นโยบายการคลัง และการใช้จ่ายภาครัฐ พร้อมมองว่าแนวโน้มการลงทุนและการส่งออกจะดีขึ้นในปีนี้

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในช่วงครึ่งปีแรกของปี 61 ประกอบด้วย ความผันผวนของค่าเงินบาท และอัตราค่าแรงที่สูงขึ้น ส่วนเสถียรภาพการเมืองในประเทศ เป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ด้านทิศทางอุตสาหกรรมนั้น CEO ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมจะปรับตัวดีขึ้น โดยส่วนใหญ่ คาดว่าผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 61 มีแนวโน้มดีขึ้น

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจ CEO ที่ ตลท.ได้จัดทำในภาพรวมสอดคล้องกับการประเมินเศรษฐกิจของ SCB EIC ของธนาคารว่าเศรษฐกิจโดยรวมของไทยขยายตัวได้ดี ซึ่ง SCB EIC ประเมินการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ 4% โดยปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งสะท้อนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีด้วย

ขณะเดียวกัน อีกสัญญาณบวกที่พบคือการลงทุนของภาคเอกชน แม้มีการปรับตัวไม่สูงมากนัก แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีเมื่อเทียบกับการขยายตัวในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาที่ค่อนข้างซบเซามาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และการลงทุนดังกล่าวช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในช่วงต่อไป

ส่วนประเด็นที่ยังต้องติดตามต่อเนื่อง คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบนี้ โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคเอกชนที่มีสัญญาณการกระจายตัวได้ไม่ทั่วถึง ทั้งสินค้าประเภทไม่คงทนหรือสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สะท้อนถึงการใช้จ่ายของกลุ่มประชากรระดับล่างยังเติบโตไม่มากนัก

ขณะที่อัตราการว่างงานแม้ปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ในอนาคตยังมีแนวโน้มที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นยังส่งผลมาถึงตลาดแรงงานไม่แข็งแรงนัก โดยมองว่าทางภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันช่วยปรับปรุงแก้ไขเพื่อเพิ่มทักษะให้แรงงาน

ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในปี 61 ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งประเด็นที่ให้ความสำคัญและติดตามต่อเนื่องคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังเห็นสัญญาณการตอบโต้กัน อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังไม่มีผลกระทบต่อไทยมากนัก แต่เป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสลุกลามต่อไปได้

ประกอบกับ ปัจจัยความผันผวนทางการเงินที่ปัจจุบันหลายประเทศลดการผ่อนคลายของนโยบายการเงินลง จากปีนี้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกทยอยปรับตัวลดลง ซึ่งถ้ามีการปรับขึ้นตามที่ตลาดคาดไว้ผลกระทบอาจเกิดไม่มาก แต่ถ้าเฟดดำเนินการแตกต่างจากที่ตลาดคาดไว้จะทำให้เกิดความผันผวนทางการเงินได้

นางยรรยง มองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะมีผลกระทบต่อไทยในวงจำกัด เนื่องจากสภาพคล่องในประเทศยังมีค่อนข้างมาก และดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลในระดับสูง ประกอบกับ อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีในลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

https://www.youtube.com/watch?v=v6s3SNPd5G0&t=108s


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ