พาณิชย์กู้ส่งออกชู Thailand Best Friend กระตุ้นยอดสั่งซื้อ-รุกตลาดใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 23, 2009 18:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2 กระทรวงพาณิชย์จะมีมาตรการผลักดันการส่งออกเพิ่มเติมออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะดำเนินการภายใต้งบประมาณที่มีอยู่และจะพยายามของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะภาคการส่งออกเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 0-3% แต่หากทำไม่ได้ก็จะพยายามทำให้การส่งออกติดลบน้อยที่สุด

"ความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้การส่งออกปีนี้โต 0-3% ยังเหมือนเดิม แม้ตอนนี้จะไม่มีงบประมาณจากรัฐบาลเพิ่มเติมเข้ามา และต้องทำงานภายใต้งบประมาณเดิมที่มีอยู่ก็จะทำอย่างเต็มที่ และจะพยายามทำแผนเพื่อเสนอของบจากรัฐบาลต่อไป เพราะการส่งออกสร้างเงิน สร้างงาน สร้างรายได้ เป็นเรื่องสำคัญต้องผลักดัน" นางพรทิวา กล่าว

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า มาตรการใหม่ที่จะทยอยออกมาคือจะเร่งรัดจัดทำโครงการ Thailand Best Friend โดยเป็นการเชิญผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สั่งซื้อสินค้าไทยเดินทางมาพบกับภาครัฐและเอกชนของไทย ซึ่งจะมีการต้อนรับเป็นอย่างดีและกระตุ้นให้เกิดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น มีกำหนดจัดงานในวันที่ 22-27 มิ.ย.นี้

นอกจากโครงการ Thailand Best Friend แล้ว กระทรวงพาณิชย์จะเร่งเจาะตลาดใหม่ผ่านโครงการ New Market for Exporters (NME) เพื่อเพิ่มหรือทดแทนตลาดเก่าที่หายไป โดยจะมีการจัดคณะผู้แทนการค้าไปบุกเจาะตลาดใน 24 ประเทศ รวม 36 กิจกรรม ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ก.ย.52 และจะมีการจัดโรดโชว์สร้างความเชื่อมั่นในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.52 จะมีการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ 5 ครั้ง ได้แก่ กัมพูชา, จีน, ญี่ปุ่น, รัสเซีย, ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้

สำหรับมาตรการระยะยาวจะมุ่งเน้นการวางรากฐานของอุตสาหกรรมส่งออกให้มีทิศทางที่ชัดเจนและเป็นไปตามกลไกของตลาด โดยจะเริ่มเน้นพัฒนาด้านตัวสินค้ามุ่งสู่นวัตกรรม ส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าของสินค้าในอนาคต ส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้าไทย(Thailand’s Brand) ให้มากขึ้น รวมถึงจะเร่งรัดให้มีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมธุรกิจบริการแห่งชาติ เพื่อดูแลธุรกิจบริการและหาทางสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น

ส่วนสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกได้วางรากฐานของการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้แบบยั่งยืน และผู้ส่งออกมีต้นทุนและผลผลิตที่แน่นอนผ่านระบบการทำ Contract Farming โดยจะใช้วิธีจูงใจมอบสัญลักษณ์ SR Mark(Social Responsibility) ให้ผู้ประกอบการในด้าน Logistic ได้ให้มีการศึกษาหาข้อมูลจริงในกลุ่มอุตสาหกรรมหลายกลุ่ม เพื่อทำเป็น Model ในการพัฒนา Logistic แบบยั่งยืนในอนาคตให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกทั้งหมด

ด้านการประชาสัมพันธ์ได้จัดให้มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งเน้นให้ลูกค้าในหลายๆ ประเทศเข้าสู่ฐานข้อมูลของสินค้าไทยได้ทุกกลุ่มและยังจะเริ่มวางรากฐานของการค้าผ่านระบบออนไลน์ e-Commerce อีกด้วย

นอกจากนี้ จะเพิ่มความร่วมมือระหว่างกระทรวงให้มากขึ้น โดยจะเข้าไปขอความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น เพราะกระทรวงพาณิชย์เป็นฝ่ายการตลาดของไทย ซึ่งถือว่าอยู่ปลายน้ำ ดังนั้นถ้ามีโอกาสเข้าร่วมนำเสนอแนวทางเพื่อขอความร่วมมือจากต้นทุน ซึ่งดูแลโดยกระทรวงต่างๆ ที่เปรียบเสมือนเป็นฝ่ายการเงิน ฝ่ายผลิต และฝ่ายวัตถุดิบ ก็เชื่อว่าจะทำให้โอกาสเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยเพื่อมุ่งสู่ตลาดโลกมีศักยภาพมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ