ทริส จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ 6 พันลบ.ของ ITD ที่ระดับ“BBB-"แนวโน้มคงที่

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 22, 2014 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาทของ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD ) ที่ระดับ “BBB-" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB-" เช่นเดียวกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระคืนหุ้นกู้เดิมของบริษัทที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมิถุนายน 2557 และชำระคืนหนี้เดิมของบริษัท

อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศ ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับในโครงการก่อสร้างภาครัฐและเอกชน โครงการก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) ที่หลากหลายจำนวนมาก รวมถึงความสามารถในการรับงานก่อสร้างหลายประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงไปบางส่วนจากการที่บริษัทมีภาระหนี้ที่สูง ความเสี่ยงทางธุรกิจจากการลงทุนในโครงการระยะยาว และวงจรขึ้นลงในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นของบริษัทจะช่วยให้บริษัทมีงบดุลที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถลงทุนในโครงการระยะยาวได้โดยยังสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในช่วงปี 2557-2559 ไว้ในระดับต่ำกว่า 70% หรืออัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 2.3 เท่า

บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีรายได้สูงสุดในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง บริษัทมีรายได้รวมในปี 2556 อยู่ที่ 4.39 หมื่นล้านบาท สถานะทางธุรกิจของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากการมีผลงานที่เป็นที่ยอมรับทั้งในโครงการภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเป็นผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง และการมีเครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้างที่หลากหลาย

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากโครงการในประเทศคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60%-75% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้จากต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานภาครัฐในประเทศอินเดีย ทั้งนี้ รายได้จากโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สาธารณูปโภคด้านการขนส่งทางบก สนามบิน และท่าเรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55%-65% ของรายได้รวม

บริษัทมีโครงการลงทุนระยะยาว 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย โครงการนิคมอุตสาหกรรมในประเทศพม่า โครงการทางด่วนในประเทศบังคลาเทศ รวมทั้งโครงการเหมืองแร่ Bauxite และโรงงาน Alumina ในประเทศลาว โดยในปัจจุบัน บริษัทยังไม่ได้เริ่มรับรู้รายได้จากการก่อสร้างหรือมีรายได้ประจำจากโครงการระยะยาวทั้ง 4 โครงการแต่อย่างใด

ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2557 บริษัทมีมูลค่างานในมือที่ยังไม่ส่งมอบจำนวน 2.64 แสนล้านบาท โดยมูลค่างานดังกล่าวรวมโครงการสัมปทานการก่อสร้างทางรถไฟและท่าเรือน้ำลึกในสาธารณรัฐโมซัมบิก มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท โครงการทางด่วนในประเทศบังคลาเทศจำนวน 3.78 หมื่นล้านบาทซึ่งทั้ง 2 โครงการยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง และโครงการเหมืองหงสาในประเทศลาวมูลค่า 2.53 หมื่นล้านบาทซึ่งจะทยอยรับรู้เป็นรายได้เป็นระยะเวลา 15 ปี ภายใต้สมมติฐานที่ไม่นับรวมโครงการสัมปทานในโมซัมบิกและโครงการทางด่วน มูลค่างานในมือของบริษัทจะมีการรับรู้เป็นรายได้ในปี 2557-2559 ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปี

อีกทั้ง บริษัทยังมีงานที่รอเซ็นสัญญาและงานที่ยื่นประมูลด้วยราคาต่ำที่สุด ประกอบด้วย โครงการป้องกันน้ำท่วม 5 โครงการ มูลค่า 5.34 หมื่นล้านบาท และโครงการเหมืองแร่ Bauxite และโรงงาน Alumina ในประเทศลาวมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท

สถานะทางการเงินของบริษัทในช่วงปี 2556 ถึงไตรมาสแรกของปี 2557 ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง โดยอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ในไตรมาสแรกของปี 2557 อยู่ที่ 8.9% ลดลงจาก 10.7% ในปี 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในช่วงสิ้นปี 2556 ถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี 2557 อยู่ที่ 70% ปรับตัวดีขึ้นจาก 76% ในปี 2555 หลังจากบริษัทได้รับเงินสดมูลค่า 2 พันล้านบาทจากการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุน

ในช่วงปี 2557-2559 ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ (ไม่รวมรายได้ก่อสร้างจากโครงการระยะยาว 4 โครงการ) อยู่ในช่วง 4.5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ โอกาสที่รายได้ของบริษัทจะต่ำกว่าประมาณการอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากมูลค่างานในมือของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของประมาณการรายได้ อัตราส่วนกำไรของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่และน่าจะอยู่สูงกว่า 7.5%

อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทในช่วงปี 2557-2559 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 60%-67% หรืออัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 1.5-2.0 เท่า โดยอัตราส่วนหนี้สินในระดับดังกล่าวน่าจะช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นที่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้ไว้ไม่เกิน 2.5 เท่า บริษัทน่าจะสามารถสร้างเงินทุนจากการดำเนินงานได้อย่างน้อย 2.5 พันล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับ 1-2 พันล้านบาทต่อปี ยกเว้นในปี 2558 ที่ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนอาจปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5.8 พันล้านบาทจากการลงทุนในโครงการหงสา

นอกจากนี้ แรงกดดันทางการเงินจากการลงทุนล่วงหน้าในโครงการทวายคาดว่าจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นอีก อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 10% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 2 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ