(เพิ่มเติม) บลจ.กรุงไทย คาด AUM ปี 57 โตตามเป้ามาที่ 6.5 แสนลบ. เน้นจับมือใกล้ชิด KTB

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 9, 2014 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) สิ้นปี 57 อยู่ที่ 6.5 แสนล้านบาทเป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากบริษัทมีแผนจะออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่ารวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท และยังมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท

บริษัทยังจะขยายตลาดกองทุนส่วนบุคคลมากขึ้น และมีแผนเปิดกองทุนใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังทั้งกองทุนหุ้นต่างประเทศ, กองทุน Term Fund และ Rollover รวมถึงกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ (KTPLUS) ซึ่งปัจจุบันมีมุลค่าสินทรัพย์สุทธิ 1.18 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 56 ที่มีมุลค่าสินทรัพย์สุทธิ 625 ล้านบาท

"เราตั้งเป้าหมาย AUM ณ สิ้นปีไว้ที่ 650,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 30,800 ล้านบาท และปัจจุบันนับตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.57 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 575,894 ล้านบาท โดยแผนการดำเนินงานที่จะทำให้เป็นไปตามเป้าหมายได้จะมาจากการออกกองทุนในทุก Product

โดยเฉพาะในครึ่งปีหลังนี้เราก็มีแผนออก Trigger fund ไม่ต่ำกว่า 2 กอง มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท คาดว่าน่าเห็นความชัดเจนได้ในช่วง 1-2 เดือนนี้ รวมถึงการออก Infrastructure Fund รัฐวิสาหกิจประเภทธุรกิจพลังงาน มูลค่าระดมทุนกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาและรอดูความชัดเจนจากภาครัฐ คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนในปีนี้ มองว่าการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะเป็นตัวสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และเป็นประโยขน์ต่อนักลงทุนอีกด้วย"นางชวินดา กล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทจะเน้นการทำงานร่วมกับธนาคารกรุงไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความรู้แก่นักลงทุนให้รู้จักผลิตภัณฑ์ของกองทุนมากขึ้น ดังนั้น ลูกค้าสามารถลงทุนได้ตามความเหมาะสมกับความเสี่ยงที่ได้รับ

ด้านนายวีระ วุฒิพงษ์ศิริกูล รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการลงทุน บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนเริ่มกลับมาหลังการทยอยนโยบายเร่งด่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการจ่ายเงินให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว การเร่งจัดทำงบประมาณปี 58 สานต่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงแผนปฏิรูปภาษีและแผนปฏิรูปพลังงาน การให้เงินกู้ซื้อบ้านดอกเบี้ยต่ำ และการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเร่งรัดการพิจารณาโครงการที่ค้างอยู่

ทั้งนี้ บลจ.กรุงไทย มองว่าแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์(SET Index)ในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบค่า PER ที่ 12.5-14.5 เท่า มีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทจดทะเบียนมีกำไรเพิ่มขึ้น หลังจากความมั่นใจนักลงทุนและผู้บริโภคกลับคืนมา โดยคาดเป้าหมาย SET Index ในปีนี้ที่ประมาณ 1,580 จุด และหากในปี 58 เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้ในระดับ 5% ก็คาดว่า SET Index จะขึ้นไปแตะ 1,680 จุด จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,485 จุด

"วันนี้พอมองเสถียรภาพทางการเมืองเริ่มดีขึ้น ผู้คนมีความมั่นใจและลงทุน ซึ่งเรามองว่ามูลค่าปีนี้ของเศรษฐกิจมันน่าจะอยู่ที่ระดับ 1,475-1,580 จุด โดยดูจากการขยายตัวของภาคธุรกิจในครึ่งปีหลัง แม้ในช่วงครึ่งปีแรกมีการหดตัวไปบ้าง ซึ่งคาดว่าปีหน้าดัชนีน่าจะแตะระดับ 1,680 จุดได้ จากระดับความเชื่อมั่นเริ่มกลับมาดีขึ้น"นายวีระ กล่าว

ส่วนกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เพื่อตอบรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความรวดเร็วและมีเสถียรภาพ โดยเน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ อสังหาริมทรัพย์ และวัสดุก่อสร้าง ขณะที่กลุ่มที่ให้น้ำหนักน้อยกว่าตลาดได้แก่ กลุ่มพลังงานและกลุ่มปิโตรเคมี

"มองแนวโน้มการลงทุนในหุ้นไทยขณะนี้น่าจะจะมีทิศทางที่ค่อยๆเป็นค่อยๆไป ซึ่งตั้งแต่ต้นปีก็ไม่ได้มองตลาดหุ้นบ้านเราแย่อยู่แล้ว โดยโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างแข็งแรง เพียงแต่ขาดความเชื่อมั่นในช่วงที่มีการประท้วงทางการเมือง แต่ขณะนี้การเมืองดีขึ้นก็น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยแนะนักลงทุนอย่าคาดหวังกับการจัดตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้น เนื่องด้วยมองว่าทาง คสช.จะต้องมีการปรับรูปแบบการบริหารเพื่อให้เกิดความมีเสถียรภาพทางการเมือง"นายวีระกล่าว

นอกจากนี้ทางฝ่ายวิจัยของบลจ.กรุงไทย คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP) ในปีนี้จะเติบโตได้ 1.1% จากครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบทางการเมืองพอสมควร แม้จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ แต่การเร่งใช้จ่ายงบประมาณยังไม่ออกมาอย่างรวดเร็วนัก และโครงการต่างๆยังต้องผ่านการประมูล ขณะที่ปี 58 มอง GDP น่าจะเติบโตได้ 6% ซึ่งจะมาจากฐานที่ต่ำในปีนี้ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ จะสามารถดำเนินการได้ในปีหน้าเป็นต้นไป

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ระดับ 2% ในปี 57 ไปจนถึงไตรมาส 2/58 หลังจากนั้นจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการใช้จ่ายเงินทั้งภาครัฐและภาคเอกชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ