(เพิ่มเติม) "น้ำตาลบุรีรัมย์" เคาะราคา IPO ที่ 6.80 บาท ขาย 29-31 ต.ค.เทรด 6 พ.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 27, 2014 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคมกฤต มีคำสัตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล. เคที ซีมิโก้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของบมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) เปิดเผยว่า ได้กำหนดราคาขายหุ้น IPO ในราคาหุ้นละ 6.80 บาท หลังจากบล.เคที ซีมิโก้ ได้ทำการสำรวจความต้องการซื้อหุ้น (Book Building) ของนักลงทุนสถาบันเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีช่วงราคาเสนอขายที่ 6.80-6.90 บาท/หุ้น

ซึ่งพบว่า นักลงทุนสถาบันได้แสดงความต้องการซื้อที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 6.90 บาท แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจและสนใจหุ้น BRR แต่เนื่องจากสภาวะตลาดที่ผันผวน บริษัทจึงตัดสินใจที่จะมีส่วนลดให้แก่นักลงทุนมากถึง 25.27% เมื่อเปรียบเทียบจากราคา Fair Value โดยจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในระหว่างวันที่ 29-31 ต.ค.นี้ และคาดว่าจะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 6 พ.ย.2557

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร BRR กล่าวว่า บริษัทฯได้เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 169,182,500 หุ้น หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ซึ่งบริษัทมีทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้วจำนวน 676,750,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดย BRR จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ ไปลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลทราย และลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนที่เหลือจะนำเงินไปชำระเงินกู้เพื่อลดต้นทุนทางการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อไป

การระดมทุนครั้งนี้จะนำไปใช้ ชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น (BE) บางส่วน หลังจากนั้นจะส่งผลให้ D/E ลดลงเหลือ 1.2 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 5 เท่า ซึ่งได้นำมาลงทุนโครงการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลทราย ที่ใช้เงินลงทุนจำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อรองรับปริมาณอ้อยที่จะเพิ่มขึ้นใน 1-2 ปีข้างหน้า และใช้ลงทุนในส่วนของโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อยแห่งที่ 2 กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ใช้งบลงทุนราว 600 ล้านบาท คาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ในช่วงต้นปี 58 จากเดิมที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลจากกากอ้อยอยู่แล้ว 1 แห่ง กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ขณะที่เงินที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทฯมองแนวโน้มการเติบโตในแง่ของกำไร คาดว่าปีนี้กำไรจะเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก เมื่อเทียบกับปีก่อนที่อยู่ที่ 205.56 ล้านบาท จากที่บริษัทฯมีการขยายกำลังการผลิตรองรับปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น และมีการควบคุมค่าใช้จ่ายอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยที่ผ่านมาบริษัทฯมีค่าขนส่งอ้อยอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องด้วยมีไร่อ้อยอยู่ใกล้บริเวณรอบโรงงาน ขณะที่มองว่าในปี 58 รายได้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากปีนี้ที่คาดว่าจะดีกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ 4,008.80 ล้านบาท โดยสัดส่วนของกำไรจากธุรกิจพลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปี 58 และ 50% ใน 3-4 ปีข้างหน้า จากปีนี้มีสัดส่วนกำไรของธุรกิจดังกล่าวที่ 15%

นอกจากนี้ บริษัทฯคาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบในปี 58 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 ล้านตัน/ปี จากปีนี้อยู่ที่ 1.7 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และในปี 59 จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มเป็น 2.5 ล้านตัน/ปีได้ พร้อมกันนี้จากการที่บริษัทฯนำเทคโนโลยีใหม่มาช่วยจัดการแปลงเพาะปลูก ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 109 กิโลกรัม/ตันอ้อย เป็น 118 กิโลกรัม/ตันอ้อย นับเป็นผลผลิตที่สูงเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลก น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากที่ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว โดยหลังจากนี้ปริมาณความต้องการน้ำตาลจะสูงกว่าผลผลิต ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำตาลอยู่ที่ระดับ 16 เซนต์/ปอนด์

บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย เช่น กากอ้อย และกากหม้อกรองไปต่อยอดทางธุรกิจสู่พลังงานทดแทน โดยมุ่งให้ความสำคัญคุณภาพผลผลิตอ้อย ผ่านการส่งเสริมพัฒนาให้ความรู้ชาวไร่อ้อย การคัดเลือกพันธุ์อ้อยและปุ๋ยที่เหมาะสมต่อพื้นที่ ตลอดจนนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยจัดการแปลงเพาะปลูกส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 105 กิโลกรัมเป็น 118 กิโลกรัม นับเป็นผลผลิตที่สูงเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย เมื่อเปรียบเทียบเป็นค่าเฉลี่ยของโรงงานในแต่ละกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาล โดยฤดูการผลิตปี 56/57 ที่ผ่านมา มีผลผลิตอ้อยเข้าหีบ 1.77 ล้านตันอ้อย ผลิตเป็นน้ำตาลทรายส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ 208,800 ตัน และในฤดูการหีบอ้อยปีนี้ โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์สามารถรองรับผลผลิตเข้าหีบได้สูงสุดเป็น 2 หมื่นตันต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณอ้อย 2 ล้านตันเศษ ซึ่งส่งผลดีต่อการผลิตน้ำตาลทรายได้เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ