ทริสฯเพิ่มอันดับเครดิต HEMRAJ เป็น A แนวโน้มยังไม่ชัดเจนหลัง WHA เข้าซื้อ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 19, 2014 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) เป็นระดับ “A" จากเดิมที่ระดับ “A-" และเปลี่ยนแนวโน้มเป็น “Developing" หรือ “ยังไม่ชัดเจน" จาก “Positive" หรือ “บวก"

ทั้งนี้ การเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงโครงสร้างรายได้และกำไรของบริษัทที่มีความมั่นคงขึ้นจากการมีสัดส่วนรายได้ประจำและเงินปันผลจากธุรกิจไฟฟ้าที่มากขึ้น โดยกำไรที่สม่ำเสมอจากการขายสาธารณูปโภค การให้เช่าทรัพย์สิน และเงินปันผลมีสัดส่วนกว่า 50% ของกำไรรวมของบริษัท

ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของของบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินเป็น “Developing" หรือ “ยังไม่ชัดเจน" ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เนื่องจาก บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (WHA) ประกาศแผนการซื้อหุ้นเพื่อครอบงำกิจการบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Developing" หรือ “ยังไม่ชัดเจน" สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของอันดับเครดิตของบริษัทหลังจาก WHA เสนอซื้อกิจการของบริษัท

การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอาจส่งผลต่อนโยบายการทำธุรกิจและความเสี่ยงทางการเงินของบริษัท อันดับเครดิตของบริษัทอาจคงเดิมหากบริษัทสามารถรักษาความแข็งแกร่งทางธุรกิจและความสามารถในการสร้างกำไรที่มั่นคงในระดับเดิมแม้จะมีผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นนำมาซึ่งนโยบายที่ส่งผลให้ความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทเพิ่มขึ้นหรือกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท ทั้งนี้ หาก WHA มีสถานะเป็นบริษัทแม่ของบริษัทแล้ว อันดับเครดิตของ WHA อาจจะมีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

อันดับเครดิตระดับ “A" ยังคงสะท้อนถึงผลงานในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นที่ยอมรับและความสามารถในการทำกำไรที่ดี อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนด้วยธรรมชาติที่ผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ในขณะที่แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท

บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2535 ณ เดือนกันยายน 2557 กลุ่มตระกูลหอรุ่งเรืองถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 15.01% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด นอกจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและการให้บริการสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังลงทุนในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอีกหลายโครงการด้วย ในช่วงปี 2554 จนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทซึ่งรวมถึงคอนโดมิเนียมคิดเป็นสัดส่วน 60%-70% ของรายได้รวม ส่วนรายได้ที่เหลือ 30%-40% เป็นรายได้ประจำซึ่งส่วนใหญ่มาจากบริการสาธารณูปโภคและค่าเช่าโรงงาน

บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และสระบุรี ด้วยพื้นที่รวมทั้งหมด 44,643 ไร่ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 มีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 636 ราย ซึ่ง 34% เป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และ 14% เป็นลูกค้าในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ณ เดือนกันยายน 2557 บริษัทมีพื้นที่เหลือขาย 11,157 ไร่ ซึ่ง 79% ของพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง

การชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยกดดันบรรยากาศการลงทุนภายในประเทศทำให้ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ตามรายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่ายอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยลดลงเหลือ 649 ไร่ในครึ่งแรกของปี 2557 จาก 2,157 ไร่ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยบริษัทขายที่ดินได้ 297 ไร่ ลดลงจาก 1,190 ไร่ที่ขายได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 เนื่องจากกิจกรรมการผลิตในประเทศที่ชะลอตัวลง ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ผลักดันความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมมีปริมาณการผลิตลดลงถึง 27.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่ดินมีแนวโน้มฟื้นตัวตามลำดับในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 หลังจากปัญหาการเมืองคลี่คลายในเดือนพฤษภาคม 2557 โดยบริษัทขายที่ดิน 225 ไร่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 จาก 176 ไร่ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในอันดับต้น ๆ ด้านการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม โดยในระหว่างปี 2552-2556 มีส่วนแบ่งโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 27% ของการขายที่ดินทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ในขณะที่บริษัทขายที่ดินรายใหญ่อีกรายหนึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 28% ในช่วงเดียวกัน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 บริษัทสามารถขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ โดยรายงานของ CBRE ระบุว่า บริษัทมียอดขายที่ดินคิดเป็นสัดส่วนถึง 46% ของยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งประเทศ

รายได้ประจำของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้เศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัวและปัญหาการเมืองจะมีความตึงเครียด โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 รายได้จากการขายสาธารณูปโภคและค่าบริการอื่นซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 2 ใน 3 ของรายได้ประจำ เพิ่มขึ้น 9.7% จากช่วงเดียวกันของปี 2556 เป็น 1,288 ล้านบาท รายได้จากค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ลดลง 16.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากบริษัทจำหน่ายโรงงานให้เช่ารวม 150,117 ตารางเมตร (ตร.ม.) ให้แก่กองทุนอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าเหมราชอินดัสเตรียลในเดือนธันวาคม 2556 กอปรกับความต้องการพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าให้เช่าที่อ่อนแอในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง อย่างไรก็ดี ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 รายได้ประจำซึ่งเกิดจากรายได้จากการขายสาธารณูปโภค รายได้ค่าเช่าสำนักงาน รายได้ค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า และค่าเช่าท่อก๊าซมีจำนวนรวม 1,998 ล้านบาท ยังคงเติบโต 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แม้ว่ารายได้รวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 มีจำนวน 5,150 ล้านบาท ลดลง 18.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 11.9% เป็น 3,563 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของรายได้ประจำและอัตรากำไรที่สูงขึ้นจากธุรกิจขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม กำไรจากการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้ายังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของ EBITDA ของบริษัท โดยบริษัทรับรู้ผลกำไรตามวิธีส่วนได้เสียจากบริษัทร่วมทุนในธุรกิจไฟฟ้ารวม 1,300 ล้านบาท (ไม่รวมกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ทำให้ EBITDA จากรายได้ประจำและการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของ EBITDA รวมของบริษัท

โครงสร้างรายได้ที่แข็งแรงขึ้นนี้ช่วยรองรับการดำเนินงานในช่วงที่ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมผันผวนได้ดีขึ้น โดยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 บริษัทมี EBITDA รวม 771 ล้านบาทแม้ว่าบริษัทมีรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเพียง 158 ล้านบาทก็ตาม อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายยังอยู่ในระดับดีที่ 6.4 เท่า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมก็อยู่ในระดับดีเช่นกันที่ 17.3% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557

การขายสินทรัพย์ให้กองทุนอสังหาริมทรัพย์ในปี 2556 ช่วยรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน โดยในเดือนธันวาคม 2556 บริษัทขายและให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปรวมพื้นที่ 150,117 ตร.ม. มูลค่า 4,700 ล้านบาทให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ บริษัทบันทึกกำไรจากการขายทรัพย์สินครั้งนี้จำนวน 2,233 ล้านบาท (สุทธิจากการสำรองค่าใช้จ่ายในการรับประกันค่าเช่าขั้นต่ำกับกองทุนฯ) เงินสดที่ได้รับจากการขายทรัพย์สินรวมกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดีทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างทุนของบริษัทยังอยู่ในระดับปานกลางแม้ว่าบริษัทจะมีการลงทุนจำนวนมากถึง 8,500 ล้านบาทในปี 2556 ก็ตาม

โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 49.7% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 จาก 49.2% ในปี 2555 บริษัทยังมีเงินสดในมือจำนวน 2,191 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 ด้วย ในอนาคตบริษัทมีแผนจะลงทุนปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท ในขณะที่คาดว่าบริษัทจะมี EBITDA จำนวน 3,500-4,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจึงมีจำนวนเพียงพอต่อการลงทุนตามแผนของบริษัท

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 WHA ซึ่งเป็นผู้ประกอบการพัฒนาและให้เช่าคลังสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรมได้แสดงเจตนาจะครอบงำกิจการของบริษัทโดยจะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทโดยสมัครใจ ทั้งนี้ WHA ได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) แสดงความประสงค์ที่จะทำสัญญาซื้อหุ้นในจำนวน 22.53% ของบริษัทจากกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โดยคำเสนอซื้อดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อ WHA ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของ WHA และสามารถเพิ่มทุนได้ตามแผน โดย WHA จะยกเลิกคำเสนอซื้อกิจการของบริษัทเหมราชพัฒนาที่ดิน หากมีผู้เสนอขายหุ้นจำนวนน้อยกว่า 50% ของจำนวนหุ้นเรียกชำระทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ