(แก้ไข) RATCH เผยต.ค.ประกาศร่วมทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาว,ร่วมหัวหมิงทำโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 29, 2015 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทจับมือพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจสู่เอเชียแปซิฟิก โดยในเดือนต.ค.นี้ บริษัทมีแผนจะประกาศการร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดกำลังการผลิต 300-400 เมกะวัตต์ที่สปป.ลาว แต่ยังไม่ขอเปิดเผยว่าเป็นโครงการใดและผู้ร่วมทุนเป็นรายใด

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เจรจากับบริษัทหัวหมิงในไต้หวัน ทำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะพัฒนาโครงการในญี่ปุ่นได้ไม่เกินต้นปีหน้า ส่วนที่เมียนมาร์ ทุกโครงการในขณะนี้คงต้องรอความชัดเจนหลังจากมีการเลือกตั้งใหม่ในปลายปีนี้ โดยบริษัทมีโครงการในแผน ได้แก่ โรงไฟฟ้าปากเหมืองถ่านหินที่เชียงตุง 600 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินมะริด กำลังผลิต 2,640 เมกะวัตต์

ส่วนโครงการประมูลโรงไฟฟ้าอินโดนีเซียยังมีอีกหลายโครงการที่สนใจเข้ายื่นประมูลในอนาคต หากรัฐเปิดประมูลก็จะไปยื่น โดยจะยื่นประมูลโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงขนาด 250 เมกะวัตต์ที่อินโดนีเซีย ขณะที่อินโดนีเซียมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีกราว 3.8 หมื่นเมกะวัตต์ภายใน 5 ปีนี้

นอกจากนี้เห็นว่าการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะเปิดโอกาสให้บริษัทไทยขยายธุรกิจ โดยควรจะจับมือกันเป็นกลุ่มในลักษณะทีมไทยแลนด์ เพื่อที่จะสามารถคู่แข่ง อาทิ จีน ญี่ปุ่น ทั้งนี้ RATCH มีพันธมิตรพร้อมบุกตลาด AEC

ด้านนายรัมย์ เหราบัตย์ ว่าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวว่า จะสานงานต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ระยะยาว 10 ปีที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มองค์กรให้ได้ถึง 2.82 แสนล้านบาทในปี 2566 หรือจะมีกำลังการผลิตรวม 9,700 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องเติบโตปีละ 350 เมกะวัตต์ จากที่ปี 2557 มีกำลังการผลิตรวม 6,200 เมกะวัตต์ โดยสิ่งที่จะดำเนินการคือต้องหาพันธมิตรที่เชี่ยวชาญมาร่วมงานทั้งทำธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจต้นน้ำ อาทิ แอลเอ็นจี เป็นต้น รวมทั้งธุรกิจปลายน้ำด้วย

ที่ผ่านมา ทางบริษัทได้ร่วมลงนามเป็นพันธมิตรกับหลายองค์กร ได้แก่ กลุ่มปตท.(PTT) กลุ่มชูบุจากญี่ปุ่น กลุ่ม CGN จากจีน ที่จะร่วมทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจีน กลุ่มบมจ.เชาวสตีล อินดัสตรี (CHOW) และกลุ่มบ้านปู (BANPU) ในขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ วัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งบริหารกระแสเงินสดที่มีอยู่ 1.7 หมื่นล้านบาทให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุด

“ผมจะเข้ามาสานต่อแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่ากิจการให้เติบโตเทียบชั้นกับบริษัทพลังงานชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยจะเร่งเดินหน้าภารกิจทั้งด้านการลงทุนให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและติดตามการบริหารสินทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้มูลค่ากิจการเติบโตตามเป้าหมายและบรรลุ 282,000 ล้านบาทในปี 2566 ตามที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์" นายรัมย์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ