ทริสฯ ปรับลดอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ PSL พร้อมปรับแนวโน้มเป็น “Negative" สะท้อนความกังวลอุตฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 26, 2016 11:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL) เป็นระดับ “BBB-" จาก “BBB" พร้อมทั้งปรับลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเป็นระดับ “BB+" จาก “BBB-" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative" หรือ “ลบ" จากเดิม “Stable" หรือ “คงที่" ด้วย

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลประกอบการและสถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงของบริษัทจากภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย โดยคาดหมายว่าความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานในธุรกิจเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกอง (Dry-bulk Shipping) จะยังคงดำเนินต่อไปในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าแม้ว่าระดับการยกเลิกเรือที่สั่งต่อใหม่ หรือการปลดระวางเรือจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม ภาวะอุปทานส่วนเกินคาดว่าจะส่งผลให้อัตราค่าระวางยังคงอยู่ในระดับต่ำและกดดันผลการดำเนินงานของบริษัทต่อไปในระยะสั้นถึงระยะกลาง

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงความกังวลว่าภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยของอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าแห้งเทกองจะยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้ฐานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องจนลดทอนสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทมีผลประกอบการดีขึ้นถึงระดับที่สามารถดำรงรักษาเงื่อนไขทางการเงินตามที่ได้ตกลงไว้กับผู้ให้กู้ได้

PSL ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2536 บริษัทเป็นเจ้าของและประกอบธุรกิจเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองแบบไม่ประจำเส้นทาง ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2559 บริษัทมีเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองจำนวน 38 ลำซึ่งมีขนาดระวางบรรทุกรวม 1.55 ล้านเดทเวทตัน (Deadweight Tonnage -- DWT) ประกอบด้วยเรือขนาดเล็กแบบ Small Handy 6 ลำ เรือขนาด Handymax 13 ลำ เรือขนส่งปูนซีเมนต์ 4 ลำ เรือขนาด Supramax 9 ลำ และเรือขนาด Ultramax 6 ลำ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 นางสาวนิชิต้า ชาห์ และกลุ่มเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้น 43.29% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และยังมีนายคาลิด มอยนูดดิน ฮาชิม เป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 8.43%

อุตสาหกรรมเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองเป็นอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนและพึ่งพาภาวะเศรษฐกิจโลกค่อนข้างสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่มีผลกดดันอุปสงค์ของอุตสาหกรรมสินค้าแห้งเทกอง ภาวะอุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยลบที่สำคัญและจำกัดการฟื้นตัวของค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับต่ำ ภาวะดังกล่าวสะท้อนจากดัชนีค่าระวางเรือ (Baltic Dry Index -- BDI) ที่ใช้เป็นดัชนีอ้างอิงค่าระวางเรือ (Time Charter Rate -- TC) ที่อยู่ในระดับต่ำที่ค่าเฉลี่ย 719 จุดในปี 2558 และระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 290 จุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดย BDI มีค่าเฉลี่ย 489 จุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2559

ผลการดำเนินงานของบริษัทได้รับผลกระทบจากค่าระวางเรือที่ต่ำดังกล่าวซึ่งสอดคล้องกับอุตสาหกรรมโดยรวม ค่าระวางเรือเฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่ 6,266 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันต่อลำเรือในปี 2558 และลดลงมาอยู่ที่ 5,519 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันต่อลำเรือในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเดินเรือลดลงเล็กน้อยจากระดับเฉลี่ยที่ 4,652 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันต่อลำเรือในปี 2558 และลดลงมาอยู่ที่ 4,523 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันต่อลำเรือในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 สาเหตุหลักมาจากการที่บริษัทขายเรือที่ประสิทธิภาพต่ำออกไป ค่าระวางเรือที่อยู่ในอัตราต่ำส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนจากการดำเนินงาน 37.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 และ 25.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559

เพื่อรักษาสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงิน บริษัทได้ออกหุ้นกู้จำนวน 99.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม 2559 ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2559 บริษัทรับเรือที่สั่งต่อใหม่จำนวน 3 ลำ มูลค่ารวม 42.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใช้เงินกู้จากธนาคารเป็นหลัก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 บริษัทมีภาระหนี้รวม 454.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 47.80% ณ สิ้นปี 2559 เป็น 52.62% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559

ในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทบริหารสภาพคล่องด้วยความระมัดระวังเพราะภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยและอัตราค่าระวางที่ต่ำน่าจะยังคงดำรงอยู่ ในส่วนของแผนปรับลดอายุของกองเรือของบริษัทนั้น ปัจจุบันบริษัทมีสัญญาสั่งต่อเรือเหลืออยู่ 5 ลำ โดย 2 ลำคาดว่าจะรับมอบได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ซึ่งต้องใช้เงินรวมประมาณ 20.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทจะรับเรือเพิ่มอีก 1 ลำ มูลค่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 ส่วนอีก 2 ลำที่เหลือคาดว่าจะมีการยกเลิกสัญญาต่อเรือ บริษัทมีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระในครึ่งหลังของปี 2559 จำนวน 12.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 25.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 ในขณะที่แหล่งที่มาของสภาพคล่องจะมาจากเงินสดที่บริษัทถืออยู่ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2259 จำนวน 45.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมรวม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในครึ่งหลังของปี 2559 เพื่อรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอและเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงิน

ทริสเรทติ้ง เชื่อว่าบริษัทจะมีแหล่งเงินทุนเพียงพอสำหรับภาระทางการเงินของบริษัท อย่างไรก็ตาม หากภาวะตลาดและผลการดำเนินงานยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่อง บริษัทอาจผิดเงื่อนไขทางการเงินตามที่ได้ตกลงไว้กับผู้ให้กู้ ทั้งนี้ บริษัทได้รับการผ่อนผันเรื่องข้อกำหนดทางการเงินที่เกี่ยวกับผลการดำเนินงาน (EBITDA and DSCR) จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2559 อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงต้องดำรงอัตราส่วนมูลค่าหลักประกันขั้นต่ำต่อยอดเงินกู้คงเหลือให้เป็นไปตามเงื่อนไขของผู้ให้กู้ และอาจทำให้บริษัทต้องชำระคืนหนี้เงินกู้บางส่วนก่อนกำหนด ซึ่งจะลดทอนความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ