บลจ.กสิกร เปลี่ยนชื่อกองทุน K-MPLUS คาด กนง.คงดอกเบี้ยตลอดปี 60 หนุนลงทุนตราสารหนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 4, 2017 12:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนตราสารหนี้ บลจ. กสิกรไทย เปิดเผยว่า บริษัทได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกองทุนเปิดเค เอ็มพลัส (K-MPLUS) โดยเปลี่ยนชื่อเป็น กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ระยะสั้น (K-SF) เพื่อให้ชื่อของกองทุนสะท้อนถึงนโยบายการลงทุนได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสื่อถึงการเป็นกองทุนตราสารหนี้ซึ่งมีความแตกต่างกับกองทุนรวมตลาดเงิน โดยจะเริ่มใช้ชื่อใหม่ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.60 เป็นต้นไป

เนื่องจากกองทุนรวมในกลุ่มตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไปที่สามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ กองทุนทั้ง 2 ประเภทจะมีความแตกต่างกันทั้งในแง่ประเภทของตราสารและอายุตราสารที่ลงทุน ซึ่งโดยทั่วไปกองทุนรวมตราสารหนี้จะมีอายุเฉลี่ยของตราสารมากกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน จึงทำให้มีความผันผวนของราคาที่สูงกว่า ดังนั้นบริษัทจึงเห็นสมควรให้เปลี่ยนชื่อกองทุนใหม่จากกองทุนเปิดเค เอ็มพลัส (K-MPLUS) เป็น กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ระยะสั้น (K-SF) เพื่อให้สื่อถึงนโยบายการลงทุนที่ชัดเจนและมีความแตกต่างกับกองทุนรวมตลาดเงิน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อกองทุนเท่านั้น แต่นโยบายการลงทุนรวมถึงระดับความเสี่ยงของกองทุนยังคงเหมือนเดิม

สำหรับนโยบายการลงทุนของกองทุน K-SF จะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นทั้งภาครัฐและเอกชน โดยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ไม่เกิน 50% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และกองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ทั้งนี้กองทุน K-SF เหมาะสำหรับเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย ต้องการลงทุนในระยะสั้นหรือเพื่อเป็นแหล่งพักเงินในระยะเวลาประมาณ 1 เดือนขึ้นไป และคาดหวังผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากและกองทุนรวมตลาดเงิน รวมถึงผู้ที่ต้องการสภาพคล่องสูงเนื่องจากสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ และผู้ลงทุนจะได้รับเงินค่าขายคืนในวันทำการถัดไป ปัจจุบันกองทุน K-SF ของบลจ.กสิกรไทยถือเป็นกองทุนตราสารหนี้ทั่วไประยะสั้น ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีมูลค่าสินทรัพย์รวมกว่า 241,000 ล้านบาท (ข้อมูลจาก AIMC ณ วันที่ 30 ธ.ค. 59)

ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทยมีมุมมองตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 60 โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงสิ้นปี 2560 เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดย FED ได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้งในปี 60 ทั้งนี้มองว่าตลาดได้รับรู้ทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ ไปมากแล้ว ทำให้ในระยะต่อไป ราคาตราสารหนี้ไม่น่าปรับตัวลงแรงมากนัก

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่สูง ทั้งจากนโยบายของสหรัฐฯ เอง และความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป รวมถึงการอ่อนค่าของเงินหยวนของจีน ทำให้ความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ยังมีอยู่สูง ประกอบกับปริมาณสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่ยังมีอยู่สูง ยังเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตราสารหนี้ในปี 60


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ