(เพิ่มเติม) "ขจรพงศ์"-"พิบูล"จับมือโต้ข่าววงแตกระบุราคาหุ้น EARTH ร่วงจากผล Force sell,เจรจาหา Strategic Partner

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 15, 2017 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายขจรพงศ์ คำดี และ นายพิบูล พิหเคนทร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ร่วมแถลงผลประกอบการไตรมาส 1/60 ของ EARTH พร้อมปฏิเสธกระแสข่าวลือที่แพร่สะพัดก่อนหน้านี้ว่าทะเลาะกัน โดยยืนยันว่าตระกูลคำดีกับพิหเคนทร์จะยังคงจับมือร่วมกันทำธุรกิจของ EARTH ต่อไป และไม่ได้มีปัญหากัน

นายขจรพงศ์ ในฐานะประธานกรรมการบริหาร EARTH เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งสองตระกูล คือ ตระกูลคำดี และตระกูลพินเคนทร์ ไม่ได้มีปัญหาทะเลาะกัน ทำให้ตนเองต้องแยกออกมาจาก EARTH ตามกระแสข่าวที่ออกมา ซึ่งทั้งสองตระกูลยังคงร่วมมือกันดำเนินธุรกิจของ EARTH ต่อไปตามปกติ และร่วมกันเดินหน้าสร้างการเติบโตให้แก่บริษัท โดยไม่มีปัญหาต่างๆในการดำเนินงานร่วมกัน

อีกทั้งยืนยันว่าไม่มีแผนที่จะขายหุ้น EARTH ออกมา แม้ตนเองจะมีการลงทุนธุรกิจส่วนตัวที่เป็นธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์ในบริษัท ฮอลิวู้ดส์ มูฟวี่ฟ์ จำกัด และมีแผนนำบริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมัน ภายในปีนี้ แต่ก็ยังจะร่วมเดินหน้าธุรกิจของ EARTH ต่อไป

"ผมยืนยันว่าผมกับตระกูลพินเคนทร์ไม่ได้มีปัญหากันตามข่าวที่ออกมา เรายังคงร่วมมือกันทำงานใน EARTH ต่อไป และผมไม่มีความคิดที่จะขายหุ้น EARTH ออก รวมถึงตระกูลพินเคนทร์ด้วย ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 ตระกูล ยังถือหุ้นอยู่ใน EARTH รวมกัน 30% แม้ว่าจะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลง เพราะถูก Force sell ออกมา แต่ก็จะพยายามรักษาสัดส่วนการถือหุ้นให้ไม่ต่ำกว่านี้"นายขจรพงศ์ กล่าว

สำหรับกรณีที่ราคาหุ้น EARTH ปรับตัวลงแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น นายขจรพงศ์ กล่าวว่า สาเหตุมาจากบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ระบุว่าธุรกิจถ่านหินเข้าสู่ช่วงตกต่ำ และราคาถ่านหินมีแนวโน้มลดลง ทำให้ธุรกิจถ่านหินจะมีผลกระทบในด้านผลการดำเนินงานที่ลดลงตามภาวะอุตสาหกรรม

จากบทวิเคราะห์ที่ออกมาส่งผลให้นักลงทุนเกิดความตกใจ โดยเฉพาะนักลงทุนที่ถือหุ้น EARTH ซึ่งเป็นธุรกิจถ่านหิน ทำให้มีแรงขายออกมาและฉุดราคาหุ้นร่วงในช่วงแรก และต่อมามีการขายหุ้น EARTH บนกระดาน Futures ในต่างประเทศของนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง ทำให้ฉุดราคาหุ้นร่วงไปอีก อีกทั้งยังมีการขาย Force sell ออกมาจากการที่ตนเองนำหุ้น EARTH ไปค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น เพื่อนำเงินจำนวน 1 พันล้านบาท มาลงทุนในธุรกิจส่วนตัว โดยหุ้นที่ถูก Force sell ออกมาคิดเป็นสัดส่วน 15%

อย่างไรก็ตาม บริษัทเชื่อว่าการ Force sell ได้สิ้นสุดลงแล้ว ทำให้ราคาหุ้นรีบาวด์กลับมา โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ทั่งสองตระกูลย่งมีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันราว 30% จากเดิมก่อนราคาหุ้นปรับตัวลงและเกิดการ Force sell อยู่ที่ 45% ซึ่งหากตนเองสามารถนำเงินไปชำระหนี้บัญชีมาร์จิ้นได้ และมีสถานะทางการเงินที่เพียงพอ ก็มีความสนใจจะเข้าเก็บหุ้น EARTH เพิ่มเติมทั้งในกระดานและการซื้อหุ้นคืน เพราะยังเห็นโอกาสการเติบโตของบริษัทอีกมากในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการเจรกับพันธมิตนในประเทศที่สนใจเข้ามาถือหุ้นของบริษัทจำนวน 2-3 ราย ซึ่งจะมาเสริมศักยภาพการเติบโตของบริษัท (Strategic Partner) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการไห้เวลาพันธมิตรศึกษาและทำความเข้าใจธุรกิจของบริษัทก่อนตัดสินใจลงทุน ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการดึงพันธมิตรเข้ามา ทั้งการออกหุ้นเพิ่มทุนเสนอขายให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) หรือ การให้พันธมิตรเข้ามาซื้อหุ้นในกระดานหลัก แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการขายแบบบิ๊กล็อต เพราะกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมต้องการรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ โดยคาดว่ามีโอกาสที่จะได้เห็นความชัดเจนภายในปีนี้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทมีหนี้สินรวมทั้งสิ้นราว 2.2 หมื่นล้านบาท เป็นวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท หุ้นกู้ 5.5 พันล้านบาท และมีหนี้ตั๋วแลกเงิน (B/E) เหลืออยู่ประมาณ 1 พันล้านบาท คาดว่าไม่มีปัญหาในการชำระ โดยขณะนี้บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 2.3 เท่า ซึ่งบริษัทตั้งเป้ารักษาระดับ D/E ให้ไม่เกิน 2.5 เท่า

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 60 จะยังคงมีกำไร แมิว่าไตรมาส 1/60 จะมีผลการดำเนินงานขาดทุนก็ตาม โดยมีความเสี่ยงสำคัญเพียงอย่างเดียว คือเ อัตราแลกเปลี่ยน ที่ทำให้ผลการดำเนินไตรมาส 1/60 ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และในส่วนของหุ้นกู้ที่ออกเป็นสกุลบาท เมื่อเงินบาทแข็งค่า ทำให้บริษัทต้องมีการบันทึกทางบัญชีว่าขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมูลค่า 215 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการขาดทุนทางบัญชี แต่ถือว่าไม่มีผลต่อกระแสเงินสดของบริษัท

"เชื่อว่าในระยะต่อไปรัฐบาลจะเข้ามาดูแลค่าเงินบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจส่งออก โดยการที่บริษัทจะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนได้นั้น ค่าเงินบาทต้องอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเราก็ไม่เลือกวิธีที่จะทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากดอกเบี้ยจ่ายจะเพิ่มขึ้น และต้องล็อคค่าเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี หากค่าเงินบาทเกิดอ่อนค่า บริษัทจะต้องเสียเงินส่วนที่เกินเพิ่มเติม"นายขจรพงศ์ กล่าว

ด้านภาพรวมธุรกิจของบริษัทในปีนี้ตั้งเป้าปริมาณการจัดจำหน่ายถ่านหินจะเติบโตแบบก้าวกระโดดอยู่ที่ 15 ล้านตัน ส่วนรายได้จากการขายถ่านหินตั้งเป้าไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% สาเหตุมาจากกลุ่มบริษัทได้รับคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น ด้านทิศทางราคาถ่านหินปีนี้ คาดการณ์ว่าน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 20% จากปี 59 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 55-60 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน

ส่วนบริษัทย่อย Guangdong EnergyEarth Co.,Ltd. ที่ประกอบธุรกิจรวบรวมถ่านหินภายในประเทศจีนจัดส่งให้กับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีน ในปีนี้คาดว่าบริษัทย่อยจะมีรายได้ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 5 พันล้านบาท โดยอยู่ระหว่างทำการประเมินมูลค่าสินทรัพย์เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งได้จัดตั้งที่ปรึกษาทางการเงินแล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ