โบรกฯแนะ"ซื้อ" GUNKUL มองกำไรปี 60 เติบโตโดดเด่น รับผลบวกโรงไฟฟ้า COD เพิ่ม,รุกขยายลงทุนทั้งใน-ตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 5, 2017 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะ"ซื้อ"หุ้นบมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) จากกำไรสุทธิปีนี้ที่น่าจะเติบโตโดดเด่น จากการรับรู้รายได้การขายไฟฟ้าโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเมื่อปีที่แล้วเข้ามาเต็มปีในปีนี้ และจะรับรู้โครงการลมที่จะเริ่มเดินเครื่องผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มเติมอีกในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่ GUNKUL ตั้งเป้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ในปี 63 หลังยังมีศักยภาพขยายกำลังการผลิตในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มได้อีก รวมถึงการขยายการลงทุนออกไปในเวียดนาม มาเลเซีย และเมียนมา

สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าในประเทศ GUNKUL เตรียมเข้าร่วมเสนอเป็นผู้ดำเนินการโครงการการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ ระยะที่ 2 ,รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบ SPP Hybrid Firm และ SPP Hybrid Firm ,VSPP Semi-Firm และ ขยะชุมชน เป็นต้น

เมื่อเวลา 16.13 น. ราคาหุ้น GUNKUL อยู่ที่ 4.24 บาท ลดลง 0.06 บาท (-1.40%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับลง 0.13%

          โบรกเกอร์                     คำแนะนำ                ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)               ซื้อ                          5.50
          แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์                 ซื้อ                          6.00
          ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประทศไทย)       ซื้อ                          6.00

นายธนัฐภัทร สุขศรีชวลิต นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ GUNKUL ในปีนี้จะมีกำไรสุทธิเติบโตได้ราว 106% จากปีก่อน และรายได้น่าจะเติบโต 29% จากปีก่อน จากการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟเมื่อช่วงปลายที่แล้วเข้ามาเต็มปี ส่งผลให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 172 เมกะวัตต์ ขณะที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากงานในมือ (Backlog) ที่มีในปัจจุบัน 1,100-1,200 ล้านบาท

โดยแนวโน้มผลการดำเนินงานในตรมาส 2/60 น่าจะเติบโตกว่าไตรมาส 1/60 จากการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิย์ (COD) ได้เพิ่มขึ้น และในไตรมาส 4/60 ก็จะ COD โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มเติมอีก 60 เมกะวัตต์ และน่าจะสามารถรับรู้รายได้เต็มปีในปีหน้า โดยปี 61 คาดจะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 230 เมกะวัตต์ ส่วนธุรกิจพลังงานทดแทน โซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะสามารถ COD ได้เพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ ในไตรมาส 1/61 และอยู่ระหว่างศึกษาขยายธุรกิจพลังงานทดแทนไปยังประเทศเวียดนาม และมาเลเซียเพิ่มเติมอีก โดยมีเป้าหมายในปี 63 จะมีกำลังการผลิตรวมเป็น 1,000 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ GUNKUL เตรียมเข้าประมูลโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะ 2 ที่จะเปิดประมูลในช่วงไตรมาส 2/60 โดยคาดหวังจะได้งานราว 20 เมกะวัตต์ และน่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ในปีหน้า รับรู้รายได้เข้ามาในปี 61 ทำให้มองแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีหน้า ก็น่าจะมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

"เราคาดกำไรสุทธิปีนี้จะเติบโตราว 106% และรายได้โต 29% จากการรับรู้รายได้จากการ COD โครงการลม และในช่วงปลายปีก็จะสามารถรับรู้โครงการลมเข้ามาเพิ่มเติมอีก โดยเรามองว่าในปีนี้ ปีหน้า และในปีถัดไป trend ยังเติบโตต่อเนื่อง"นายธนัฐภัทร กล่าว

ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า GUNKUL ตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตในปี 63 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 เมกะวัตต์ โดยมีโครงการในมือแล้วจำนวน 488 เมกะวัตต์ และคาดหวังจะได้กำลังผลิตใหม่เพิ่มอีก 500 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 125 เมกะวัตต์/ปี โดยจะมาจากโครงการในประเทศไทย จากการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ 1,134 เมกะวัตต์ ในปี 60 แบ่งเป็น โซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์ จำนวน 219 เมกะวัตต์ , SPP Hybrid Firm จำนวน 300 เมกะวัตต์ ,VSPP Semi-Firm จำนวน 289 เมกะวัตต์ ,ขยะชุมชน จำนวน 78 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ในส่วนของโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ GUNKUL คาดหวังจะได้รับราว 25 เมกะวัตต์ จากยื่นข้อเสนอ 50 เมกะวัตต์ ขณะที่ยังคาดว่าจะได้งาน EPC จากโครงการดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย สำหรับโครงการในต่างประเทศ GUNKUL จะมุ่งเน้นที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และเมียนมา เป็นต้น

ด้านผลประกอบการปี 60-61 คาดว่ากำไรสุทธิน่าจะเติบโตโดเด่น โดยในปีนี้คาดอยู่ที่ 971 ล้านบาท และในปีหน้าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 23% เป็น 1,197 ล้านบาท จากการ COD โรงไฟฟ้าพลังงานลมเข้ามาเพิ่มอีก รวมถึงการ COD โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคาดจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นไป

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า GUNKUL ยังมีศักยภาพที่จะไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นได้เพิ่มอีก และมีแนวโน้มกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 300 เมกะวัตต์ในรอบ 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 208 เมกะวัตต์ รวมถึงยังมีมุมมองที่ดีต่อ GUNKUL จากคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิจะเติบโตเฉลี่ย 61% ต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ