(เพิ่มเติม) กลุ่ม BSR เซ็นรับสัมปทานรถไฟชมพู-เหลือง 33 ปี พร้อมแต่งตั้ง BBL เป็นผู้นำจัดหาเงินกู้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 16, 2017 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) และประธานกลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ เปิดเผยว่าวันนี้ กลุ่มบีเอสอาร์ ได้ร่วมลงนามในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีขมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเวลา 33 ปี 3 เดือน

"2 สายนี้เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือโมโนเรล สองสายแรกของประเทศ เป็นโครงการร่วมลงทุนในลักษณะ PPP Net Cost ที่เอกชนผู้ลงทุนจะต้องรับความเสี่ยงในเรื่องผลประกอบการเองซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนรวม 2 โครงการถึงเกือบ 1 แสนล้านบาท แต่ด้วยการเตรียมการล่วงหน้าความตั้งใจและความพร้อมของกลุ่ม ทำให้เรามั่นใจว่าจะสามารถดำเนินโครงการให้ประสบสำเร็จ"

นอกจากนี้ ยังได้มีการลงนามแต่งตั้งธนาคารกรุงเทพ (BBL) เป็นผู้นำในการจัดหาเงินกู้สนับสนุนโครงการทั้ง 2 โครงการ อีกทั้งจะได้มีการลงนามข้อตกลงการก่อสร้างงานโยธากับ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และข้อตกลงการจัดการระบบรถไฟฟ้ากับบริษัท บอมบาดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล (ประเทศไทย) ภายใต้ความร่วมมือกับ CRRC ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

นายคีรี กล่าวว่า การลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองของกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR มีจำนวนเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากส่วนของผู้ถือหุ้น 2.8 หมื่นล้านบาท และที่เหลือจะมาจากเงินกู้สถาบันการเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ จะลงทุนงานโยธาประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง STEC เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างทั้ง 2 โครงการ ส่วนระบบรถไฟฟ้าและตัวรถโมโนเรลจำนวน 288 ตู้ แบ่งเป็นสายสีชมพู 168 ตู้ สายสีเหลือง 120 ตู้ อีกราว 5 หมื่นล้านบาทกำหนดส่งมอบรถภายใน 3 ปีนี้

นายคีรี กล่าวว่า การดำเนินงานที่รวดเร็วกว่าแผนตามปกติ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและการเตรียมการเป็นอย่างดีของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเมื่อ รฟม.ได้ส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทแล้วจะลงมือก่อสร้างทันทีและมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้โครงการนี้แล้วเสร็จเร็วกว่าแผนที่กำหนด โดยกำหนดแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 63

นายคีรี กล่าวอีกว่า กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ได้จัดตั้งบริษัท 2 บริษัท เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู คือ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง คือ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด ซึ่งตามสัญญาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost นี้ บริษัทร่วมทุนจะได้รับสิทธิในการบริหารจัดการเดินรถ จัดเก็บรายได้ค่าโดยสารและค่าที่จอดรถ รวมถึงรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ด้วย

ทั้งนี้ บริษัทร่วมทุนทั้ง 2 บริษัทจะมอบหมายให้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บ.ย่อยBTS) เป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง

นอกจากนี้ ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรโดยสารใบเดียว(บัตรแมงมุม)เดินทางได้ทั้ง 3 ระบบคือสายสีเขียว สายสีชมพู และสีเหลืองโดยจะออกแบบใหเป็นลักษณะการเชื่อมต่อแบบ paid to paid ที่ผู้โดยสารไม่ต้องออกนอกระบบ

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีระยะทางประมาณ 34.5 กม.มีสถานีรวม 30 สถานี กรอบวงเงินลงทุน 46,643 ล้านบาท ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ระยะทางประมาณ 30.4 กม. มีสถานีรวม 23 สถานี กรอบวงเงินลงทุน 45,797 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) เป็นโครงสร้างยกระดับตลอดสาย มีทางเดินสำหรับการอพยพกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน (Emergency Walkway) ตลอดทาง แนวเส้นทางเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder Line) ที่จะกระจายความหนาแน่นของกิจกรรมเมือง และเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนหลัก (Main Line) เป็นโครงข่ายอย่างเป็นระบบ. ทั้งนี้คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2563

นายคีรี กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ได้ลงนามสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในวันนี้แล้ว ในสัปดาห์หน้าทางกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR จะเสนอ รฟม. ถึงข้อเสนอเพิ่มเติมในการสร้างส่วนต่อขยายสายสีชมพู จากสถานีศรีรัชเข้าไปยังเมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. และส่วนต่อขยายสายสีเหลืองจากสถานีรัชดาไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ถนนพหลโยธินบริเวณใกล้สีแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม.โดยใช้งบประมาณของกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR เองทั้งหมด 6 พันล้านบาท ซึ่งจะรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย

ทั้งนี้ BRS เชื่อว่าหากมีการเพิ่มส่วนต่อขยายสายสีชมพูและสีเหลือง จะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากกว่าที่คาดไว้เดิมที่สายละ 120,000 เที่ยวคน/วันในปีแรกที่เปิดดำเนินการ

นายคีรี คาดว่า ระยะเวลาที่รฟม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุมัติการลงทุนส่วนต่อขยายทั้ง 2 โครงการราว 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง และก่อสร้างอีกกว่า 1 ปี เชื่อว่าจะสร้างแล้วเสร็จพร้อมกับเส้นทางหลักและเปิดให้บริการพร้อมกันได้

"ผมหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการผลักดันให้โครงการเดินหน้าสามารถก่อสร้างทั้งในส่วนของเส้นทางหลักและส่วนต่อขยายให้แล้วเสร็จตามแผน หรือเร็วกว่าแผนที่กำหนดตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางและช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป" นายคีรี กล่าว

ด้านนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) ในฐานะรักษาการแทนผู้ว่า รฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองเป็นโครงการนำร่องตามมาตรการ PPP Fast Track ของรัฐบาลในการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ทั้ง 2 โครงการเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสนับสนุนวงเงินลงทุนบางส่วนและภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบและขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เป็นระยะเวลาตามสัญญา 33 ปี 3 เดือน แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 เป็นงานออกแบบและก่อสร้างโยธาพร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน และ ระยะที่ 2 เป็นงานให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี

ส่วนการดำเนินการส่วนต่อขยายของทั้ง 2 โครงการ นายธีรพันธ์ กล่าวว่า หากทางกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR เสนอมาให้ รฟม. และเมื่อ รฟม. พิจารณาแล้ว ก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการมาตรา 43 ตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เป็นผู้ศึกษาและคาดว่าจะทราบผลภายใน 4 เดือน จากนั้นจะเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และคณะกรรมการจัดระเบียบการจราจรทางบก (คจร.) บรรจุในแผนแม่บทรถไฟฟ้า

“รฟม. จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรลงทุนหรือไม่ โดยคณะกรรมการมาตรา 43ฯ จะศึกษาและรายงาน คจร. เป็นระยะๆ ปีนี้คงทราบผลว่าจะให้ลงทุนส่วนต่อขยายหรือไม่ ถ้าอนุมัติก็คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีหน้า" นายธีรพันธ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ