กรุงศรีคอนซูมเมอร์ รับมาตรการธปท.ส่งผลลูกค้าใหม่ปีนี้พลาดเป้า 8.9 แสนบัญชี คาดเหลือ 7 แสนบัญชี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 27, 2017 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต และประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับปรุงเกณฑ์คุมเข้มสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น จะกระทบต่อเป้าหมายการขยายฐานลูกค้า ทำให้คาดว่าจำนวนลูกค้าใหม่ทั้งของบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของบริษัทในสิ้นปีนี้จะเหลือเพียง 7 แสนบัญชี ลดลง 20% จากเป้าหมายเดิมที่ 8.9 แสนบัญชี

ปัจจุบัน บริษัทมีลูกค้าใหม่แล้ว 4.5 แสนบัญชี แบ่งเป็นบัตรเครดิต 2.6 แสนบัญชี และสินเชื่อส่วนบุคคล 1.9 แสนบัญชี

ส่วนการที่ ธปท.ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงไม่เกิน 18% จากเดิมที่ 20% นั้น จะมีผลกระทบต่อรายได้จากธุรกิจบัตรเครดิตของบริษัทลดลง 10% ตามภาพรวมของอุตสาหกรรม นายฐากร กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 1.37 แสนล้านบาท แบ่งเป็นบัตรเครดิต 6.3 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคล 7.4 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของบัตรเครดิตปัจจุบันอยู่ที่ 1.35% จากระบบที่อยู่ 2.9% ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 3.13% เทียบกับระบบอยู่ที่ 3.5% "ผลกระทบทางด้านรายได้จากดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็ค่อนข้างเยอะ เพราะเรามีลูกค้าผ่อนชำระมากถ็ง 65% และจ่ายเต็ม 35% จากฐานบัตรเครดิตทั้งหมดที่เรามี 3.65 ล้านใบ"นายฐากร กล่าว

อนึ่ง เมื่อวานนี้ ธปท.ประกาศปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่จะมีผลบังคับใช้กับผู้ขอมีบัตรเครดิตหรือผู้ขอสินเชื่อส่วนบุคคลรายใหม่ พร้อมทั้งประกาศปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตมีผลบังคับใช้กับผู้มีบัตรเครดิตทั้งรายเดิมและรายใหม่ ทั้งหมดจะมีผลตั้งแต่ 1 ก.ย.60 เป็นต้นไป

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับการปรับกลยุทธ์ของบริษัทในเบื้องต้นจะชะลอการขยายลูกค้าบางผลิตภัณฑ์ แต่การทำกิจกรรมทางการตลาดยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายผ่านบัตรที่สม่ำเสมอ ซึ่งหลังจากนี้บริษัทจะเริ่มวางแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับเกณฑ์ใหม่ที่ออกมา

ขณะที่นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบทางด้านรายได้ดอกเบี้ยของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะเกณฑ์เพดานอัตราดอกเบี้ยยังคงเท่าเดิมที่กำหนดไว้สูงสุดไม่เกิน 28% ต่อปี แต่จะได้รับผลกระทบฐานลูกค้าใหม่ที่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขจำนวนการถือบัตร โดยปัจจุบันลูกค้าบริษัทมีฐานเงินเดือนที่ 1 หมื่นบาท และต่ำกว่า 3 หมื่นบาทอยู่ที่ 70-80%

กลุ่มลูกค้าระดับล่างจะได้รับผลกระทบมากกว่าลูกค้าระดับบน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายขอสินเชื่อส่วนบุคคล และจะมีผลกระทบมากกับบริษัทที่เป็นนอนแบงก์ที่เน้นลูกค้าระดับล่างมากกว่าผู้ประกอบการธนาคารก็จะเน้นลูกค้าระดับบน ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากเข้ามาในธุรกิจได้ไม่นาน เพราะมีข้อจำกัดในการแข่งขันจากเงื่อนไขใหม่ที่ออกมา

ส่วนธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ของบริษัทในชื่อว่า "เถ้าแก่ทันใจ" ที่เปิดให้บริการในเดือนก.ย. 59 ถึงปัจจุบัน มีสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้ปล่อยใหม่ไปแล้ว 28 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะทำได้ 40 ล้านบาท โดยมีจำนวนบัญชี 750 บัญชี และสิ้นปี 60 จะเพิ่มเป็น 1 พันบัญชี ซึ่งวงเงินเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 3.8 หมื่นบาท ในขณะที่ NPL อยู่ที่ 7% ซึ่งเป็นระดับที่ถือว่าค่อนข้างสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ