โบรกฯเชียร์"ซื้อ"TMB เพิ่มเป้ากำไรปีนี้หลังต่อสัญญา FWD ขายประกันผ่านแบงก์หนุนค่าธรรมเนียม-รองรับปล่อยสินเชื่อเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 11, 2017 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบกเกอร์ฯต่างแนะนำ"ซื้อ"หุ้นธนาคารทหารไทย (TMB) ขณะที่ปรับประมาณกำไรของธนาคารในปีนี้เพิ่มขึ้น จากรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตในระดับสูง 20-30% มากกว่าเป้าหมายเดิมของธนาคารที่ตั้งไว้โต 10-20% หลังจากธนาคารได้เซ็นสัญญาให้ FWD ขายประกันผ่านช่องทางธนาคารอีก 15 ปีช่วยสนับสนุนรายได้ค่าธรรมเนียมให้เติบโตได้ดี

ขณะเดียวกันธนาคารยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการเข้าถึงช่องทางการให้บริการของธนาคาร (Access fee) เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องและรองรับการปล่อยสินเชื่อ คาดแนวโน้มสินเชื่อช่วงครึ่งปีหลังจะยังขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรกที่ 3.9% เพราะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้ารายย่อยยังมีการเติบโตที่ดี

ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ช่วงครึ่งปีหลังยังมองว่าอาจจะเห็นการเพิ่มขึ้นได้บางช่วง แต่ธนาคารยังมีการบริหารจัดการหนี้ได้เป็นอย่างดี และอาจจะมีการ write-off หนี้ ทำให้ NPL ยังอยู่ในกรอบที่สามารถบริหารจัดการได้ จากครึ่งปีแรก NPL อยู่ที่ 2.56% แต่แนวโน้มการตั้งสำรองฯยังอยู่ในระดับสูงเพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งธนาคารมีระดับอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (Coverage ratio) ครึ่งปีแรกแข็งแกร่ง 140%

ราคาหุ้น TMB ช่วงบ่ายอยู่ที่ 2.30 บาท ลดลง 0.04 บาท หรือ 1.71% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.76%

          โบรกเกอร์                     คำแนะนำ                ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ฟินันเซีย ไซรัส                    ซื้อ                         2.84
          ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)            ซื้อ                         2.80
          ไทยพาณิชย์                       ซื้อ                         2.70
          กสิกรไทย                        ซื้อ                         2.70
          เอเชีย เวลท์                     ซื้อ                         2.70
          ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ                 ซื้อ                         2.67
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)              ทยอยซื้อ                      2.60
          แอพเพิล เวลธ์                    ซื้อ                         2.56
          เอเซีย พลัส                      ซื้อ                         2.48
น.ส.สุนันทา วสะภิญโญกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิในปี 60 มาที่ 9.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากปีที่แล้ว จากเดิมที่คาดว่าปีนี้จะมีกำไรระดับ 9 พันล้านบาท เนื่องจาก TMB ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมในปีนี้เป็น 20-30% จากเดิม 10-20% และรายได้จากดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการที่ธนาคารจะนำเงิน Access fee ที่ได้เซ็นสัญญาการขายประกันร่วมกับ FWD จำนวน 2 หมื่นล้านบาท มาใช้รองรับการให้สินเชื่อ

ส่วนการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังมองว่ามีโอกาสที่จะสูงกว่าครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 3.9% จากการลงทุนภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจให้ขยายตัวตามไปด้วย และธนาคารมีเป้าหมายที่จะบริหารจัดการให้สินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโตในระดับสูง ประกอบกับ สภาพคล่องจากค่า Access fee ที่เข้ามาเสริมศักยภาพของเงินที่รองรับการให้สินเชื่อ จะช่วยหนุนการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการตั้งสำรองฯช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะการเพิ่มขึ้น หรือเท่ากับครึ่งปีแรกที่ตั้งสำรองฯไปราว 4.5 พันล้านบาท นับว่าเป็นการตั้งสำรองฯที่อยู่ในระดับสูง โดยคาดว่า NPL ของธนาคารจะเพิ่มขึ้นแตะจุดสูงสุดในไตรมาส 4/60 จากครึ่งปีแรกอยู่ที่ 2.56% โดยมองว่าธนาคารยังคงใช้การ Write-off ในช่วงครึ่งปีหลังเช่นเดียวกับครึ่งปีแรก เพื่อดูแลระดับ NPL ให้เหมาะสม และยังไม่มีความน่ากังวลกับแนวโน้ม NPL ที่จะยังคงเพิ่มขึ้น เพราะธนาคารมี Coverage Ratio สูงถึง 140% ถือว่าเป็นอัตราส่วนที่สะท้อนคุณภาพหนี้ที่แข็งแกร่ง

ด้านนายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล ผู้ช่วยอำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า ปรับประมาณการกำไรสุทธิของธนาคารในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 9.4 พันล้านบาท จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 9.1 พันล้านบาท หลังจากแนวโน้มของรายได้ค่าธรรมเนียมมีทิศทางการเติบโตที่สูงขึ้น โดยมีปัจจัยผลักดันมาจากการเซ็นสัญญาการขายผลิตภัณฑ์ประกันของ FWD อีก 15 ปี ทำให้แนวโน้มของรายได้งานด้านการขายผลิตภัณฑ์ผ่านธนาคาร (Bancassurance) ยังมีทิศทางการเติบโตที่เพิ่มขึ้น

อีกทั้งทางธนาคารยังมีรายได้จาก Access fee จาก FWD เข้ามาเสริมสภาพคล่อง และสามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังและปีต่อๆ ไปได้ โดยมองว่าการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ามีโอกาสเห็นการขยายตัวได้สูงกว่าครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 3.9% จากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อบ้าน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อรวมในปีนี้ อีกทั้งยังมองว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังจะสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้

ด้านการตั้งสำรองฯของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังมองว่ายังเห็นการตั้งสำรองฯในระดับสูง ซึ่งธนาคารมีเป้าหมายจะรักษาระดับ Coverage ratio ที่ 140-150% เพื่อป้องกันความเสี่ยงในเรื่องของคุณภาพหนี้ โดยระดับ NPL ของธนาคารในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 2.56% ซึ่งอาจจะยังเห็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นได้ในบางช่วง แต่เชื่อว่าการบริหารจัดการหนี้ที่มีประสิทธิภาพจะสามารถช่วยให้ระดับ NPL ของธนาคารสามารถอยู่ในระดับที่ 2.5% ตามเป้าหมายได้

นักวิเคราะห์จาก บล.แอพเพิล เวลธ์ แนะนำ "ซื้อ" TMB ราคาเป้าหมาย 2.56 บาท/หุ้น โดยได้ปรับมาณการกำไรในปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.95 พันล้านบาท จากเดิมที่คาดว่ากำไรของธนาคารจะอยู่ที่ 8.86 พันล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่จะเติบโตได้ในระดับสูงที่ 30% ในปีนี้ ซึ่งธนาคารได้ปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่โต 10-20% หลังจากที่ธนาคารได้เซ็นสัญญาการให้ FWD ขายประกันผ่านช่องทางธนาคารเป็นระยะเวลา 15 ปี ซึ่งจะเข้ามาช่วยสนับสนุนงานด้าน Bancassurance ให้เติบโตได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ขณะเดียวกันธนาคารยังได้รับเงินค่า Access fee มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป๊นการทยอยรับรู้รายได้ดังกล่าวเข้ามา ช่วยหนุนสภาพคล่องของธนาคาร และทำให้ธนาคารไม่จำเป็นต้องระดมเงินฝากมากนัก และยังจะทำให้ธนาคารมีเงินรองรับการปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มมากขึ้น โดยมองว่าการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังจะสูงกว่าครึ่งปีแรกที่เติบโต 3.9% และมีโอกาสที่จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้ขยายตัว 8-10% จากสินเชื่อรายใหญ่เป็นปัจจัยผลักดันหลัก และแนวโน้มของสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีโอกาสพลิกกลับเป็นบวก หากการลงทุนของภาครัฐเริ่มเห็นอย่างชัดเจน ทำให้ความเชื่อมั่นกลับมาและเกิดการลงทุนตาม

ส่วนการตั้งสำรองฯในช่วงครึ่งหลังยังคาดว่ายังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากธนาคารมีความระมัดระวังความเสี่ยงด้านหนี้เสียที่อาจจะยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ 2.56% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นตามวัฏจักรของหนี้ที่จะเกิดขึ้นหลังเศรษฐกิจชะลอตัวไปสักระยะหนึ่ง โดยมองว่าระดับ Coverage Ratio ที่ 140% ในครึ่งปีแรก สามารถรองรับความเสี่ยงของด้านคุณภาพหนี้ได้เป็นอย่างดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ