AOT มั่นใจงวดปี 60 ผู้โดยสารโตเข้าเป้า 7-8%,ชงบอร์ด 20 ก.ย.อนุมัติกรอบแผนแม่บทพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 23, 2017 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่างวดปี 60 (ต.ค.59-ก.ย.60) จำนวนผู้โดยสารที่จะเข้ามาใช้บริการท่าอากาศยานของ ทอท.จะเติบโต 7-8% ตามเป้าหมาย หลังจากงวด 9 เดือนแรก (ต.ค.59-มิ.ย.60) เติบโตขึ้นราว 7.4% ซึ่งในจำนวนนี้ผู้โดยสารระหว่างประเทศเติบโตกว่า 10% จากปกติจะเติบโตสอดคล้องภาพรวม เนื่องจากในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.59 ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ ทำให้จำนวนผู้โดยสารชะลอตัวลงไปเหลือเติบโต 6% และ 3% ตามลำดับ แต่ในเดือนธ.ค.59 ฟื้นขึ้นมาเติบโตสูงถึง 10%

"สรุปแล้วเราได้ผ่านช่วงท้องช้างผ่านไปแล้วเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว หรือในช่วงไตรมาส 1 แต่ 3 ไตรมาส ผู้โดยสารโตขึ้นมา 7.4% ตอนนี้ comeback for be high ก็ตีกลับตามเป้า"นายนิตินัยกล่าว

ขณะที่การจัดเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ทั้งในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และนอกพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเร็วๆนี้กรมธนารักษ์จะสรุปตัวเลขมาให้ ทอท. และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ โดยหลักการที่ได้ข้อสรุปกับกรมธนารักษ์ จะจัดเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2 ส่วน ส่วนแรกเก็บแบบส่วนแบ่งรายได้(Revenue Sharing) 15% และ ผลประโยชน์ตอบแทนเปรียบเทียบกับมูลค่าทรัพย์สิน (ROA) แบ่งเป็น พื้นที่ Free Zone เก็บ อัตรา 0.01% พื้นที่เชิงพาณิชย์ เก็บอัตรา 3% และที่ดินว่างเปล่า เก็บในอัตรา 2% คือที่ดินเปล่าแปลง 37 ที่ปัจจุบันเหลือพื้นที่ราว 800-900 ไร่ ซึ่ง ทอท.เคยเตรียมไว้ในการดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ พื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีทั้งหมด 2 หมื่นไร่ โดย 80-90% เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้แสวงหากำไร ได้แก่ รันเวย์ แท็กซี่เวย์ แนวร่อนเป็นต้น รวมอาคารสำนักงานส่วนนี้ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า โดยคาดว่ากรมธนารักษ์จะเริ่มจัดเก็บในอัตราใหม่ในงบประมาณปี 61 (ต.ค.60-ก.ย.61) สำหรับในงวดปี 45-55 ได้จ่ายไปแล้ว และในปี 56-60 คิดตาม Revernue Sharing รวมอัตราเงินเฟ้อ

ส่วนพื้นที่ที่ไม่ใช่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในปี 50-59 กรมธนารักษ์ เก็บเพิ่มส่วนต่างที่คิดตามเงินเฟ้อ โดยที่ผ่านมา ทอท.ได้จ่ายไปแล้ว 1.2 พันล้านบาท ส่วนในปี 60-69 จะจ่ายตามอัตราใหม่ที่มีทั้ง ROA และ Revenue Sharing

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 20 ก.ย.จะมีการพิจารณากรอบแผนแม่บทการพัฒนาโครงการพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยจะมีการพัฒนาที่ดินเปล่าแปลง 37 ไร่ ซึ่งปัจจุบันมีสัญญาใช้ที่ดินกับกรมธนารักษ์ถึงปี 75 และได้สิทธิต่อสัญญาอีกครั้งละ 10 ปี 2 ครั้ง อยู่ระหว่างศึกษาโครงการ โดยจะไม่ใช่โครงการใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับอายุเช่าที่ดิน และจะมีอีกแปลงเป็นที่ดินของบริษัทเอง จำนวน 723 ไร่ แต่พื้นที่นี้ต้องลงทุนสาธารณูปโภคด้วย

"งบปี 61 ผมเชื่อว่าธุรกิจ ทอท. จะเติบโตจากพื้นที่เชิงพาณิชย์ จะลงทุนเอง หรือเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP "นายนิตินัย กล่าว

ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า มีงานที่ต้องประมูลเหลืออยู่ 3 งาน ได้แก่ งานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) ในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โดยจะเปิดให้ยื่นซอง 6 ก.ย.นี้ และงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) ยื่นซองในวันที่ 16 ต.ค.60

ส่วนงานก่อสร้างอาคารที่จอดรถและสำนักงานสายการบิน และงานก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออก มูลค่างานประมาณ 7 พันล้านบาท ทอท.จะแยกงานก่อสร้างอาคารที่จอดรถและสำนักงานสายการบินทำก่อน มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งจะเปิดประมูลใน 1-2 เดือนนี้ และงานก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออก จะแยกออกมาก่อน เพราะเกรงว่าจะทำให้ล่าช้า ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลต้นปี 61

นายเอนก กล่าวว่า จากการเปิดประมูลงานต่าง ๆ ในโครงการดัวกล่าวในช่วงที่ผ่านมา สามารถประหยัดงบประมาณแล้ว 11,188 ล้านบาท หรือ 17.9% จากกรอบงบลงทุนในโครงการนี้ทั้งหมด 6.2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี นายเอนก กล่าวว่า ยังมีงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal2) ซึ่งอยู่ในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 30 ล้านคน กำหนดให้แล้วเสร็จในปี 64 ขณะนี้เปิดประมูลหาที่ปรึกษาออกแบบ ทั้งนี้ เมื่องานก่อสร้างเสร็จทั้งหมดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 90 ล้านคน จากปัจจุบัน 45 ล้านคน แต่ขณะนี้มีจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ 56 ล้านคนแล้ว

ขณะที่โครงการท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท กำลังดำเนินการดึงส่วนงานที่ไม่ต้องรอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ออกมาดำเนินการก่อน ได้แก่ โรงจอดรถขนาด 1,500 คัน ทั้งด้านเหนือและใต้ และงาน APM เพื่อเคลื่อนย้ายผู้โดยสารระหว่างอาคาร 1-2


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ