นายกฯ แจง ธปท.ออกเกณฑ์เข้มแบงก์ใหญ่ตามหลักสากล ยืนยันสถานะเข้มแข็ง-มั่นคง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 26, 2017 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศเรื่อง แนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ และรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศว่า เป็นการกำหนดความเข้มงวดตามหลักสากลเท่านั้น

ทั้งนี้ ยืนยันว่าทั้ง 5 ธนาคาร ประกอบด้วยธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีความเข้มแข็งและมีความมั่นคงมากนับตั้งแต่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเป็นต้นมา พร้อมทั้งมีเงินกองทุนกากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกหรือแตกตื่นกับข่าวดังกล่าว เพราะในต่างประเทศก็ได้ปฏิบัติตามตามหลักสากลในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

ด้านนายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ตามประกาศของ ธปท.ดังกล่าว ทำให้ในปี 62 ต้องมีการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีก 0.5% กล่าวคือในปี 62 ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 5 แห่งตามประกาศต้องมีเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Total Capital Ratio) ขั้นต่ำอยู่ที่ 11.50% ตามเกณฑ์ ธปท.

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของ KTB (ตามเกณฑ์กลุ่มธุรกิจทางการเงิน) ณ สิ้น มิ.ย.60 อยู่ที่ 16.27% ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนดไว้เช่นกัน

“ธนาคารมีเงินกองทุนตามเกณฑ์บาเซิล 3 มาแล้วตั้งแต่ปี 56 ซึ่งขณะนี้เงินกองทุนของธนาคารสูงกว่าเกณฑ์ธปท.กำหนดไว้ ขอยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีความกังวลใดๆ เกี่ยวกับเรื่องเงินกองทุนในปัจจุบัน สถานะทางการเงินของธนาคารยังมีความแข็งแกร่ง" นายพูลพัฒน์ กล่าว

สำหรับประกาศของ ธปท.เรื่องแนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยสำคัญต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศนั้น ก่อนหน้านี้ธปท.ยังได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่ม เพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤต(Conservation buffer) โดยให้ทยอยดำรงส่วนเงินกองทุนเพิ่มเติมจากอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำอีกปีละ 0.625% ตั้งแต่ 1 ม.ค.59 จนครบ 2.50% ในวันที่ 1 ม.ค.62 ซึ่งในปัจจุบันธนาคารได้มีการตั้งสำรองตามเกณฑ์ ของธปท.ครบถ้วน

นายพูลพัฒน์ กล่าวอีกว่า ธนาคารมีความเชื่อมั่นว่า เงินกองทุนตามเกณฑ์ดังกล่าว จะสามารถรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ส่งผลให้สถานะทางการเงินของธนาคารมีความแข็งแกร่ง และสามารถรองรับการขยายธุรกิจได้ในอนาคต

ขณะที่นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพยึดหลักการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง พร้อมทั้งรักษาสภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต และความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน

โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.60 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 18.7% และ 16.9% ตามลำดับ ซึ่งครอบคลุมความเสี่ยงในด้านต่างๆ ธนาคารจึงมีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงกว่ากำหนดตามหลักเกณฑ์ Basel III และเพียงพอที่จะรองรับการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่ม ตามมาตรการ D-SIBs ดังกล่าวข้างต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ