ฟิทช์ คงอันดับเครดิต DTAC ที่ BBB /AA(tha) แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 16, 2017 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของบมจ. โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ DTAC ที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ ‘F1+(tha)’

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

การลงทุนในคลื่นความถี่ใหม่เพิ่มทดแทนคลื่นความถี่เดิม: ฟิทช์เชื่อว่า DTAC ต้องการคลื่นความถี่เพิ่มเติมในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อทดแทนคลื่นความถี่จำนวน 35 MHz ที่จะหมดอายุลงตามสัญญาสัมทานในปี 2561 นอกเหนือจากคลื่นความถี่ 2.3GHz ที่บริษัทกำลังจะเข้าทำสัญญากับ บมจ.ทีโอที หรือ TOT

ฟิทช์คาดว่า DTAC น่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1.8GHz และ 850MHz ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 เนื่องจาก DTAC ยังคงให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G และ 4G บนคลื่นความถี่ดังกล่าว ฟิทช์คาดว่าราคาเริ่มต้นสำหรับการประมูลน่าจะอยู่ในระดับสูง ใกล้เคียงกับราคาสิ้นสุดการประมูลของคลื่นความถี่ 1.8GHz และ 900MHz ที่เกิดขึ้นในปี 2558 และ 2559

การงดจ่ายปันผลเพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน: การงดจ่ายเงินปันผลจะช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จากการลงทุนในคลื่นความถี่ที่อยู่ในระดับสูงในปี 2561 ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ของ DTAC จะเป็นบวกในปี 2560 จากการงดจ่ายเงินปันผล โดยบริษัทฯ น่าจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับเงินลงทุนจำนวนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) น่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.6 เท่าในปี 2560 จาก 1.9 เท่าในปี 2559 ซึ่งน่าจะช่วยรองรับการลงทุนในคลื่นความถี่ใหม่ในปี 2561 ได้ อัตราส่วนหนี้สินของ DTAC คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2561 แต่น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า

การแข่งขันที่ปรับตัวดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่าการแข่งขันด้านราคาในธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศไทย น่าจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2560 และในปี 2561 เนื่องจากผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญในการทำกำไร มากกว่าการเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด และลดการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Handset Subisidy) โดยตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2560 DTAC และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS (มีอันดับเครดิตที่ BBB+/AA+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ได้ลดการให้ส่วนลดค่าเครื่อง และให้ส่วนลดค่าเครื่องเฉพาะลูกค้าในระบบรายเดือน

ฟิทช์คาดว่า ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) หรือ True Mobile จะมีการลดการให้ส่วนลดค่าเครื่องสำหรับลูกค้าระบบเติมเงินในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 หลังจากที่ส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าของ DTAC ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2560

กำไรที่เติบโต: ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ของ DTAC จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2560 จาก 2.86 หมื่นล้านบาทในปี 2559 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการให้ส่วนลดค่าเครื่องที่ลดลง โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายการตลาด (ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการให้ส่วนลดค่าเครื่อง) ต่อรายได้จากการให้บริการของ DTAC ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ลดลงอย่างมาก มาอยู่ที่ร้อยละ 7 จากร้อยละ 12 ในปี 2559

นอกจากนี้กำไรของ DTAC ยังได้รับผลบวกจากการปรับลดค่าธรรมเนียมในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation Fee) เป็นร้อยละ 2.5 ของรายได้ จากร้อยละ 3.75 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 EBITDA Margin ของ DTAC ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 41.1 จากร้อยละ 35.1 ในปี 2559

ส่วนแบ่งทางการตลาดที่คงที่: ฟิทช์คาดว่า DTAC น่าจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาด ณ ปัจจุบันไว้ได้ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ True Mobile ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับสอง ที่ประมาณร้อยละ 23-25 เนื่องจากฟิทช์คาดว่าการแข่งขันในตลาดจะลดความรุนแรงลง โดยตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการของ DTAC ปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลง เมื่อเทียบกับในปี 2559 และรายได้จากการให้บริการของบริษัทกลับมาเติบโตเป็นครั้งแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 หลังจากที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2557

ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นใหญ่: ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของ DTAC โดยเริ่มจากการพิจารณาอันดับเครดิตของ DTAC โดยลำพัง (Standalone Rating) แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-Up Approach) โดยฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ Telenor หรือความสัมพันธ์กับ DTAC ฟิทช์จะทำการพิจารณาความสัมพันธ์และการสนับสนุนดังกล่าวจาก Telenor ใหม่อีกครั้ง

โดยสรุป อันดับเครดิตของ DTAC สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่ 3 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการใกล้เคียงกับผู้ให้บริการอันดับที่ 2 ซึ่งได้แก่ True Mobile และอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับปานกลางที่ประมาณ 1.5-2.5 เท่า DTAC มีอันดับเครดิตต่ำกว่า AIS เนื่องจาก AIS มีขนาดรายได้ที่ใหญ่กว่า มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่า และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงกว่า DTAC

อันดับเครดิตของ DTAC อยู่ในระดับเดียวกันกับ Globe Telecom, Inc. หรือ Globe ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ BBB-/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ เนื่องจากบริษัททั้งสองมีรายได้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ถึงแม้ว่า Globe จะมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า DTAC แต่สถานะทางธุรกิจของ Globe แข็งแกร่งกว่า DTAC เนื่องจาก Globe มีบริการโทรคมนาคมที่หลากหลายกว่า และการแข่งขันที่รุนแรงน้อยกว่าในตลาดโทรคมนาคมของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงสองราย

อันดับเครดิตของ DTAC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้จากการให้บริการคงที่ ในปี 2560 และเพิ่มร้อยละ 2-3 ในปี 2561
  • EBITDA margin ในปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 37-39 ในปี 2560 (2559: ร้อยละ 35.1)
  • เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 1.8-2.0 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2560 และ 2561 (2559: 1.9 หมื่นล้านบาท)
  • ชำระเงินภายใต้สัญญาที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ 2.3GHz ให้แก่ TOT ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560
  • ลงทุนในคลื่นความถี่ใหม่ในปี 2561
  • ไม่จ่ายเงินปันผลในปี 2560

ปัจจัยที่อาจส่งให้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต

  • การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน EBITDAR Margin ไปอยู่ในระดับสูงกว่า 40% อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจัยที่อาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิต

  • การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage Ratio สูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง โดยส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการลดลงต่ำกว่า 20% อย่างต่อเนื่อง
  • ไม่สามารถหาคลื่นความถี่เพื่อมาทดแทนคลื่นความที่ที่จะหมดอายุลงในปี 2561
  • การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท
  • ความสัมพันธ์ระหว่าง DTAC และ Telenor ที่ลดลง

สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์มองว่า DTAC มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่อยู่ในระดับสูง จำนวน 1.83 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ บริษัทมีหนี้ที่กำหนดชำระในอีก 12 เดือน ข้างหน้าในระดับต่ำที่ 165 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ