TISCO เผยตั้งสำรอง Q4/60 มากกว่า Q3/60 หลังรวมพอร์ตรายย่อย SCBT

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 7, 2017 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาตรี จันทรงาม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายควบคุมการเงินและบริหารความเสี่ยง บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เปิดเผยว่า ทิศทางการตั้งสำรองในช่วงไตรมาส 4/60 จะสูงขึ้นจากไตรมาส 3/60 หลังจากได้รับโอนธุรกิจรายย่อยจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือ SCBT เข้ามา โดยมีมูลค่าสินเชื่อประมาณ 36,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการเคหะ 24,000 ล้านบาท สินเชื่อบุคคล 5,000 ล้านบาท สินเชื่อธุรกิจรายย่อย 3,400 ล้านบาท สินเชื่อบัตรเครดิด 3,300 ล้านบาท และเงินฝากประมาณ 15,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การรับโอนธุรกิจรายย่อยของ SCBT ที่มีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงถึง 3% จะส่งผลให้ภาพรวม NPL ของธนาคารปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจุบันที่ระดับ 2.3% แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการบริหารจัดการอย่างมีศักยภาพและเชื่อว่าระดับ NPL จะลดลงภายในปีนี้

“ก่อนหน้านี้เรามองว่า NPL ของธนาคารจะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ด้วยการที่พอร์ตของ SCBT เข้ามา และมี NPL อยู่ที่ 3% ทำให้ NPL เฉลี่ยของธนาคารปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงไตรมาส 4/60 เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องตั้งสำรองเพิ่มจากช่วงไตรมาส 3/60 ปัจจุบันเรามีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ Coverage ratio สูงถึง 185% ซึ่งมากกว่าระบบที่เฉลี่ยอยู่ 130-140%"นายชาตรี กล่าว

นายชาตรี กล่าวว่า การเติบโตของสินเชื่อรวมในปี 61 คาดว่าจะทรงตัว จากปีนี้ที่เติบโตได้ราว 10% จากการโอนพอร์ต SCBT เข้ามา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 16-17% ของสินเชื่อรวม โดยปัจจุบันสินเชื่อธนาคารหลังควบรวมมีการเติบโตแล้ว 11% จากสิ้นปี 59 ซึ่งก่อนรวมสินเชื่อหดตัว 4.4% ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างสิ้นปีนี้อยู่ที่ 240,000 ล้านบาท จากต้นปีที่อยู่ 220,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนสินเชื่อของธนาคารก่อนการควบรวมแบ่งเป็น สินเชื่อรายย่อย 75% หลังรวมเพิ่มเป็น 80% สินเชื่อรายใหญ่ 17% หลังรวมลดลงเป็น 14-15% และ สินเชื่อเอสเอ็มอี 6-7% หลังรวมเป็น 5%

“ปีหน้าพอร์ตสินเชื่อคงจะไม่ได้เติบโต แต่ก็คงไม่ถึงกับติดลบ เพราะในปีนี้ฐานค่อนข้างใหญ่ประกอบกับ ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวเท่าที่ควร โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชน และเรายังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่ เพราะสินเชื่อเอสเอ็มอียังไม่ฟื้น สินเชื่อรถก็ต้องรอดูมาร์จิ้น ซึ่งที่พอจะไปได้คงจะเป็นสินเชื่อรายใหญ่ และสินเชื่อสมหวัง ที่เราคาดไว้ว่าสินเชื่อสมหวังจะโตเฉลี่ยปีละ 20% ในขณะที่กำไรปีนี้คาดว่าจะทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารมา หลัง 9 เดือนมีกำไรแล้ว 4,568 ล้านบาท เทียบกับ 9 เดือนปีที่แล้วที่มีกำไร 3,713 ล้านบาท จากปี 59 ที่มีกำไร 5,005 ล้านบาท"นายชาตรี กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ