PTTEP ทบทวนโครงการลงทุนปิโตรเลียมในตปท. 5 แห่ง หาแนวทางบริหารดีที่สุดพร้อมสรุปใน Q1/61

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 21, 2017 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงศธร ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า ปตท.สผ.อยู่ระหว่างทบทวนโครงการลงทุนสำคัญในต่างประเทศ 5 แห่ง ประกอบด้วย โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ในแคนาดา ,โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน , โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ,โครงการ M3 ในเมียนมา และโครงการแคช เมเปิ้ล ในออสเตรเลีย เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการที่ดีที่สุดกับบริษัท หลังสถานการณ์หลายอย่างอยู่เหนือการควบคุม ทั้งราคาน้ำมัน,ปัญหาข้อกฎหมาย รวมถึงพื้นที่ผลิต ซึ่งการทบทวนอาจจะทั้งการลงทุนต่อหรือการขายหุ้นในอนาคต โดยคาดว่าจะสรุปได้ภายในไตรมาส 1/61

“หนึ่งในภารกิจหลักที่เข้ามานั่งตำแหน่งนี้ คือกลับมาทบทวนโครงการหลัก ๆ เพื่อหาความชัดเจน แนวทางที่จะบริหารจัดการโครงการหลัก ๆ พวกนี้ขอเวลาระยะหนึ่ง ให้หลาย ๆ อย่างกระจ่างขึ้น...ทบทวนว่าอะไรที่ดีที่สุดสำหรับปตท.สผ. เผื่อมีมุมอื่นที่จะทำได้ เพราะหลาย ๆ อยู่เหนือการควบคุม”นายพงศธร กล่าว

นายพงศธร เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งดังกล่าว ภายหลังจากที่ปตท.สผ. ได้ปรับโครงสร้างผู้บริหารใหม่ โดยนายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ จะรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพียงตำแหน่งเดียว ส่วนนายพงศธร ก็เข้ามารับตำแหน่งกรมการผู้จัดการใหญ่ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.60

นายพงศธร กล่าวว่า สำหรับโครงการโมซัมบิก และโครงการฮาสสิ เบอร์ ราเคซ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในปีหน้า ซึ่งหากปตท.ตัดสินใจเลื่อน FID ออกไปอีก ก็เชื่อว่าจะไม่ต้องตั้งด้อยค่าสินทรัพย์เหมือนเช่นโครงการออยล์ แซนด์ ที่ตั้งด้อยค่าสินทรัพย์จำนวนากเมื่อไตรมาส 3/60 ที่ผ่านมา ส่วนโครงการ M3 ในเมียนมา ที่แม้จะอยู่ในพื้นที่ใกล้กับประเทศไทย แต่ที่ต้องทบทวนเพราะว่าเป็นแหล่งในทะเลขนาดเล็ก ทำให้ต้องพิจารณาความเหมาะสมและคุ้มค่าในการลงทุนด้วย

อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ.ยังให้ความสำคัญในการมองโอกาสการลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับในไทย ,อินโดนีเซีย ,มาเลเซีย ,เมียนมา แต่ก็ยังไม่ทิ้งโอกาสการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ไกล เช่น ในเม็กซิโก ที่ล่าสุดได้ตั้งบริษัทย่อยเพื่อรองรับการเข้าประมูลแหล่งปิโตรเลียมในบางพื้นที่ที่มีศักยภาพ ซึ่งบริษัทให้ความสนใจ จึงต้องตั้งบริษัทเพื่อเข้าร่วมประมูลตามกฎหมายของเม็กซิโก

ส่วนในมาเลเซีย อยู่ระหว่างการเจรจากับแหล่งปิโตรเลียมเพื่อเข้าไปถือหุ้น หลังจากก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับบมจ.ปตท. (PTT) เข้าไปลงทุนโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในมาเลเซียแล้ว ขณะที่ในไทยจะให้ความสำคัญกับการประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 65-66 ได้แก่ แหล่งบงกช และเอราวัณ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่มพันธมิตรเดิมเพื่อเข้าร่วมประมูลในแต่ละแหล่ง ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้นก่อนที่รัฐบาลออกประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูล (TOR) ออกมาซึ่งปัจจุบันยังมีความล่าช้าอยู่ รวมถึงยังมองโอกาสที่จะเข้าร่วมประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั่วประเทศของไทย ที่จะเปิดประมูลหลังจากเสร็จสิ้นการประมูลแหล่งบงกช และเอราวัณแล้ว

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ นอกเหนือจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruptive) เพื่อเป็นอนาคตของปตท.สผ. ขณะที่ราคาน้ำมันยังมีทิศทางทรงตัว และอัตราความต้องการใช้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลเริ่มถดถอยลง

นายพงศธร กล่าวว่า ปตท.สผ.วางเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียมในช่วง 3 ปี (ปี 60-62) อยู่ที่ระดับ 3 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นลักษณะการประคองกำลังการผลิต หลังจากที่ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยลดลง ขณะที่ปตท.เรียกรับก๊าซฯลดลงจากการที่มีการนำเข้า LNG เข้ามามากขึ้น ทำให้จากเดิมที่เคยเรียกก๊าซฯมากกว่าสัญญา ก็จะเหลือเพียงปริมาณตามสัญญา ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตก๊าซฯจากแหล่งบงกชที่ 900 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ประกอบกับความต้องการใช้ก๊าซฯที่ลดลงด้วย

อย่างไรก็ตามก็จะมีการเพิ่มกิจกรรมในการขุดหลุมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งสิริกิติ์ (S1) ในปีหน้ามากขึ้น ซึ่งทำให้คาดว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง S1 จะเพิ่มขึ้นในปีหน้า จากระดับ 2.5 หมื่นบาร์เรล/วันในปัจจุบัน โดยปริมาณขายปิโตรเลียมดังกล่าวยังไม่นับรวมการเข้าซื้อกิจการที่อาจจะมีโอกาสในอนาคต ขณะที่ประเมินราคาน้ำมันในปีหน้า จะใกล้เคียงปัจจุบันที่ราว 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ส่วนความคืบหน้าการถูกฟ้องคดีมอนทารา จากรัฐบาลอินโดนีเซียนั้น ล่าสุดอยู่ในกระบวนการของศาล ซึ่งในอีก 1-2 สัปดาห์หน้าจะมีการไต่สวนคดีในนัดที่ 2 ต่อไป

“ภารกิจหลักของผม จะทำอย่างไรให้ปตท.สผ.ทำโครงการสำรวจและผลิตให้มีประสิทธิภาพและต้นทุนที่ต่ำ เพราะถ้าทำให้ต้นทุนที่เหมาะสม ไม่ว่าราคาผลิตภัณฑ์ในตลาดโลกจะขยับอย่างไร เราก็จะรองรับได้”นายพงศธร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ