(เพิ่มเติม1) FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าลดลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับร้อนแรง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 18, 2017 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสันติ กีระนันทน์ ผู้แทนจาก สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Invester Confidence Index) ประจำเดือน ธ.ค.60 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ในภาวะร้อนแรง

โดยปัจจัยหนุนหลักมาจากความเชื่อมั่นจากการที่ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศที่มีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในส่วนตัวเลขการส่งออกและผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ในภาพรวม และคาดการณ์ว่าประธานนโยบายทางการเงินของสหรัฐจะมีนโยบายปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีความคืบหน้านโยบายปฏิรูปภาษีที่มีการผ่านวุฒิสภาสหรัฐ

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงจากคาบสมุทรเกาหลี นักลงทุนยังคงเฝ้าติดตามความคืบหน้าจากการที่เกาหลีเหนือยังคงมีการทดลองอาวุธต่อเนื่อง สำหรับตลาดหุ้นไทย ดัชนีฯยังมีการปรับตัวในทิศทางที่แกว่งตัวในช่วงเดือน พ.ย.

ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.พ.61) อยู่ที่ 150.81 อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" (Bullish) ปรับตัวลดลง 9.025 จากเดือนที่ผ่านมาที่ 165.77 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลง โดยกลุ่มบัญชีนักลงทุนต่างประเทศยังคงอยู่ที่ระดับร้อนแรงอย่างมาก ขณะที่กลุ่มสถาบันในประเทศ กลุ่มนักลงทุนรายบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับร้อนแรง

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (Tourism) ส่วนหมวดธุรกิจเกษตร (AGRI) เป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด

"ภาวะการลงทุนในเดือน พ.ย. ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการเคลื่อนไหวในลักษณะแกว่งตัวอยู่ในกรอบขึ้นลงช่วงใกล้เคียง 1,700 จุดในลักษณะพักฐานการลงทุน อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยหนุนจากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 4 ที่ขยายตัว 4.3% สูงสุดในรอบ 18 เดือน โดยตัวเลขการส่งออกเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชตน การบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น แม้ว่าการลงทุนภาครัฐในช่วงนี้จะหดตัวลงก็ตาม ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับร้อนแรง"

สำหรับปัจจัยต่างประเทศมีปัจจัยหนุนจากตลาดหุ้นของสหรัฐยังมีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยความคืบหน้าของแผนปฏิรูปภาษีและการคาดการณ์นโยบายการเงินของประธานคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของสหรัฐคนใหม่ในการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภาวะเศรษฐกิจยุโรปมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากภาคการบริโภคยังอยู่ในระดับที่ดี และการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยนโยบายผ่อนคลายทางการเงินยังคงดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องจับตามมองจากประเทศจีนหลังสิ้นสุดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาลจีน กลับมาดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น เพื่อควบคุมปัญหาหนี้ในระบบที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความเคลื่อนไหวที่ยังคงมีอยุ่จากความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีที่เป็นปัจจัยลบในการลงทุนแม้ว่าตลาดจะถไม่ได้ตอบสนองมากนักก็ตาม

ผลจากดัชนีคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศจะทรงตัวที่ระดับ 1.50% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยหลักมาจากอุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ การขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจไทย และการคาดการณ์การพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ (Interest Rate Expection Index) เดือน ธ.ค.60 โดยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง.รอบเดือน ธ.ค.นี้ อยู่ที่ระดับ 50 สะท้อนความเชื่อมั่นของตลาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมครั้งหน้า โดยให้น้ำหนักในปัจจัยหลัก 3 ประกาณ คือ อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ, เศรษฐกิจไทย และ อัตราดอกเบี้ยของตลาดการเงินโลก

ส่วนดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงประชุม กนง.รอบเดือน ก.พ.61 อยู่ที่ระดับ 83 ทั้งคู่ ซึ่งลดลงจากครั้งที่แล้ว โดยดัชนียังคงอยู่ในระดับที่สะท้อนถึงทิศทางที่เพิ่มขึ้น

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ในฐานะนักลงทุนสถาบัน มองการเติบโตไปในทิศทางเดียวกันกับหลายฝ่าย ด้านสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีการทบทวนประมาณการขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีการเจริญเติบโตได้ดี โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) ซึ่งสำหรับประเทศไทยคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 3.4-4.0% ในปีนี้ และคาดว่าในปี 61 จะเติบโตราว 3.7%

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 61 ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET index) จะเติบโตราว 7-10% หรือสามารถขึ้นไปอยู่ในระดับ 1,820 จุด โดยมองว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนจะสามารถเติบโตได้ 20% ได้รับปัจจัยหนุนจากกลุ่มธนาคารที่แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีทิศทางปรับตัวลดลง ขณะที่กลุ่มค้าปลีก การส่งออก และก่อสร้าง ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปีนี้ ซึ่งจะช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศขยายตัวตามไปด้วย

แนะนำการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง โดยมองว่าตราสารหนี้ (fixed income) ให้ผลตอบแทนต่ำ ขณะที่ตราสารทุนต่างๆ มองว่ายังมีทิศทางเป็นบวกทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะต่างประเทศที่มองว่าจะเติบโตได้ค่อนข้างดีกว่าในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามการลงทุนก็ยังคงต้องใช้ความระมัดระวัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ