AOT ปัดซื้อรถเข็นกระเป๋าที่สนามบินสุวรรณภูมิแพง ยันเป็นไปตามระเบียบและตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 12, 2018 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ชี้แจงกรณีมีข่าวว่า ทอท. มีการเช่ารถเข็นกระเป๋าสำหรับให้บริการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ในราคาที่แพงกว่าความเป็นจริง ว่า ในการจัดหารถเข็นกระเป๋าของ ทสภ. ทาง ทอท. ได้กำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับรถเข็นกระเป๋า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่ารถเข็นกระเป๋าที่ผู้รับจ้างนำเข้าไปให้บริการนั้นมีประสิทธิภาพ มีความคงทนแข็งแรง และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ รวมทั้งมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่นิยมใช้ในท่าอากาศยานชั้นนำต่างๆ ด้วย เช่น “ ...ผู้เสนอราคาจะต้องเสนอรถเข็นกระเป๋าที่เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อยี่ห้อที่เคยให้บริการหรือกำลังให้บริการในท่าอากาศยานนานาชาติ (International Airport) ชั้นนำที่มีปริมาณผู้โดยสารจนถึงวันที่ยื่นซองเสนอราคา ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคนต่อปี ตามประกาศหรือข้อมูลล่าสุดของสภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (The Airports Council International - ACI) จำนวนไม่น้อยกว่า 5 ท่าอากาศยาน...” และในด้านความปลอดภัยต่อผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ ทอท.กำหนดให้รถเข็นกระเป๋าที่จะนำมาให้บริการต้องผ่านเกณฑ์การทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกและการลื่นไถลบนทางลาดเลื่อนอัตโนมัติซึ่งถูกติดตั้งไว้ใช้งานภายในอาคารผู้โดยสารของ ทสภ. เป็นต้น และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการให้บริการ ทอท.กำหนดให้ต้องมีการจัดหารถลากจูงไฟฟ้าเพื่อช่วยในการจัดเก็บและลำเลียงรถเข็นกระเป๋าเอาไว้ด้วย ซึ่งจากการตรวจสอบรถเข็นกระเป๋าในชั้นต้นตามที่ปรากฏในข่าวไม่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขของ ทอท. ดังกล่าวข้างต้น

อนึ่ง มีรายงานข่าวว่า ทอท. มีการเช่ารถเข็นกระเป๋าสำหรับให้บริการภายในทสภ. ในราคาที่แพงกว่าความเป็นจริง จำนวน 1,000 คัน วงเงิน 879 ล้านบาท ในขณะที่ราคาซื้อใหม่ตามท้องตลาดจะมีราคาเพียงคันละ 150 - 300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5,250 - 10,500 บาทเท่านั้น

นายศิโรตม์ กล่าวว่า การคำนวณราคาตามที่ปรากฏในข่าวนั้นเป็นการคำนวณที่ไม่ครบถ้วนตามข้อเท็จจริง กล่าวคือ มูลค่างานจ้างให้บริการรถเข็นกระเป๋าซึ่งเป็นลักษณะการจ้างเหมาบริการแบบเบ็ดเสร็จโดยวิธีประมูลตามกระบวนการขั้นตอนทางด้านพัสดุ เป็นเงินค่าจ้างรวมทั้งสิ้น 821,520,000 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายหลักหลายด้าน เช่น ค่ารถเข็นกระเป๋าและรถลากจูงไฟฟ้า ค่าจ้างแรงงาน ค่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ค่าซ่อมบำรุง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่มูลค่าการซื้อหรือเช่ารถเข็นกระเป๋าแต่เพียงอย่างเดียวตามที่ปรากฏในข่าว อีกทั้ง เมื่อสิ้นสุดสัญญารถเข็นกระเป๋าและรถลากจูงไฟฟ้า พร้อมด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จะตกเป็นทรัพย์สินของ ทอท. ด้วย การคำนวณที่ปรากฏในข่าวจึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงของ ทอท.ได้

นายศิโรตม์ กล่าวว่า ในการประมาณการค่าใช้จ่ายตามสัญญาจ้างนี้ เพื่อให้ผู้รับจ้างเลือกเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ ทอท. กำหนดไว้ข้างต้น ทอท. ได้สอบราคาผลิตภัณฑ์รถเข็นกระเป๋าจากเจ้าของผลิตภัณฑ์รถเข็นกระเป๋ายี่ห้อชั้นนำ 3 รายของโลก ได้แก่ Wanzl, Expresso และ Smarte Cart เป็นต้น เพื่อจัดทำเป็นราคากลางปรากฏว่า รถเข็นกระเป๋าขนาดเล็ก มีมูลค่า 14,850 บาทต่อคัน และรถเข็นกระเป๋าขนาดกลาง มีมูลค่า 25,500 บาทต่อคัน ซึ่งเป็นราคาต่ำที่สุดตามใบเสนอราคาที่ได้จากเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้แทนจำหน่ายแต่ละรายนอกจากนี้ จำนวนรถเข็นกระเป๋าที่ ทอท. จัดหาเพื่อให้บริการ ณ ทสภ. มีจำนวนทั้งสิ้น10,817 คัน รถลากจูงไฟฟ้าอีกจำนวน 16 คัน ทั้งนี้ เป็นการคำนวณตามหลักวิชาการเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสารและกายภาพของพื้นที่ไม่ใช่ 1,000 คันตามที่ได้มีการนำเสนอในข่าวแต่อย่างใด

"การประมาณราคาตลอดจนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างรถเข็นกระเป๋าในครั้งนี้ เป็นการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุซึ่งมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ทั้งนี้ ทอท. มุ่งมั่นในการดำเนินงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งมุ่งมั่นปรับปรุงคุณภาพการให้บริการเพื่อให้ได้มาตรฐานท่าอากาศยานที่ดีระดับโลกเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย" นายศิโรตม์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ