(เพิ่มเติม) KKP ตั้งเป้าปี 61 สินเชื่อโต 10% จากปีก่อน 9% เน้นเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อื่น, เล็งลด NPL ปีนี้เหลือราว 4.5%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 25, 2018 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ตั้งเป้าปี 61 ธุรกิจสินเชื่อเติบโต 10% จากปีก่อนที่เติบโต 9% โดยจะเน้นเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์อื่น ขณะเดียวกันในปีนี้จะลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เหลือประมาณ 4.5% จากปีก่อนอยู่ที่ระดับ 5%

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KKP เปิดเผยภาพรวมการดำเนินงานในปี 61 คาดว่าจะมีผลงานดีขึ้นจากปีก่อน โดยเฉพาะในส่วนของรายได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่ยังมีการเติบโตในระดับที่ดี โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อที่ธนาคารยังคงรุกอย่างต่อเนื่อง คือ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ดี และธนาคารสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายได้

อีกทั้งในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปีนี้คาดว่าจะพลิกกลับมาเติบโตขึ้น จากปีก่อนที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หดตัว 8% โดยการกลับมาฟื้นตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มาจากการที่ธนาคารหันมาเน้นปล่อยสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว (Used car) มากขึ้นซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 44% และเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ารถยนต์ใหม่ ขณะที่ในส่วนของรถยนต์ใหม่จะเป็นการฟื้นตัวขึ้นจากในช่วงต้นปีจะมีงาน Motor Show ที่ช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ และเป็นไปตามประมาณการของค่ายรถยนต์หลายค่ายที่มีมุมมองยอดขายรถยนต์ในปีนี้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ในส่วนของสินเชื่อธุรกิจธนาคารได้หันมาเน้นกลุ่มสินเชื่อธุรกิจเพื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น แม้ว่าจะให้อัตราผลตอบแทนที่ไม่มาก แต่เป็นการกระจายความเสี่ยงในเรื่องของหนี้เสีย เพราะกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ไม่มีปัญหาหนี้เสียเกิดขึ้น แต่การพิจารณาให้สินเชื่อนั้นจะพิจารณาตามประเภทโครงการและทำเลที่มีศักยภาพ โดยที่ผ่านมาสินเชื่อธุรกิจของธนาคารจะเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลาง ซึ่งมีปัญหาหนี้เสียที่สูง โดยมี NPL อยู่ที่ระดับ 20%

อีกทั้งด้านธุรกิจตลาดทุนยังมีแนวโน้มที่ดีจากการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับกลุ่มของธนาคารเกียรตินาคินยังได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางการเงินในการระดมทุนขนาดใหญ่อีกหลายรายการในปี 61 และธุรกิจการเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ลูกค้าสถาบันและหน่วยงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ ทำให้สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดและรายได้เป็นที่น่าพอใจ

“ภาพรวมผลการดำเนินงานในปีนี้ก็เชื่อว่าจะดีกว่าปีก่อน ตามการเติบโตของสินเชื่อที่มากขึ้น แต่เสปรดของผลตอบแทนอาจจะลดลงบ้าง เพราะอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ และมีการแข่งขันด้านราคาที่สูง แต่ธนาคารก็พยายามหากลุ่มของสินเชื่อที่มีผลตอบแทนที่ดีและกระจายความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อเป็นผลบวกต่อผลการดำเนินงาน และทำให้ NPL มีแนวโน้มลดลง ซึ่งมองว่าก็อยากที่จะทำให้ลดลงเหลือ 4% ในปีนี้ แต่เบื้องต้นจะคุมให้อยู่ราว 4.5% ไว้ก่อน"นายอภินันท์ กล่าว

ขณะที่แนวโน้มการตั้งสำรองฯของในปี 61 คาดว่าจะมีการตั้งสำรองฯอยู่ในระดับที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนที่ตั้งสำรองฯอยู่ที่ 763 ล้านบาท ซึ่งการตั้งสำรองฯที่เพิ่มขึ้นแม้ว่าในปีนี้ธนาคารจะลด NPL ให้ต่ำลงมาอยู่ที่ 4.5% เป็นเพราะธนาคารยังมีผลกระทบจากการขาดทุนรถยึดอยู่ ทำให้การตั้งสำรองยังมีแนวโน้มมากขึ้น ซึ่งทำให้ Credit Cost ของธนาคารในปี 61 จะอยู่ที่ 1-1.2% จากปีก่อนที่ 0.8%

แต่ในส่วนของมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร เพราะเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่จะส่งผลกระทบต่อการตั้งสำรองฯในบางรายการ และการสำรองฯของธนาคารในปัจจุบันถือว่าเพียงพอรองรับต่อมาตรฐานบัญชีใหม่ ซึ่งธนาคารมีการตั้งสำรองฯเทียบกับเงินสำรองพึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (LLR/Require Reserve) อยู่ที่ 188.6%

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 61 คาดว่า จะเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ 3.8% โดยมีปัจจัยหนุนหลัก 2 ปัจจัย คือ 1. ภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่พร้อมเพรียงกัน (Synchronized Growth) ขณะที่มาตรการปฏิรูปภาษีของรัฐบาลสหรัฐก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจโลกเช่นกัน และ 2. ภาคเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การเบิกจ่ายงบกลางปี เป็นต้น ด้านการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นแต่ไม่โดดเด่นนัก

ทั้งนี้มีประเด็นที่ต้องจับตา 3 ประการ ได้แก่ 1. เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างทั่วถึงหรือไม่ โดยที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากภาคระหว่างประเทศเป็นหลัก 2. การลงทุนของภาครัฐและเอกชนจะกลับมาขยายตัวหรือไม่ โดยที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ (ที่รวมรัฐวิสาหกิจ) ต่ำกว่าเป้ามาโดยตลอด และ 3. ความตึงตัวภาคการเงินจะผ่อนคลายลงหรือไม่ โดยที่ผ่านมาแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินจะอยู่ในระดับต่ำแต่สภาพคล่องทางการเงินไม่ได้ไหลเข้าไปสู่ภาคธุรกิจที่มีความต้องการทางการเงินเท่าที่ควร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ