(เพิ่มเติม) ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับลงตามดาวโจนส์ดิ่งหลังวิตกเฟดขึ้นดบ.เร็วกว่าคาด,สนช.ผ่านร่างกม.อีอีซีพยุงตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 9, 2018 09:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์ฯคาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับลงตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังเมื่อคืนนี้ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 1,000 จุด จากความกังวลเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด อย่างไรก็ตามการที่สนช.ผ่านร่างกฎหมายอีอีซีเมื่อวานนี้ ก็น่าจะเป็นปัจจัยช่วยประคองตลาดทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาได้บ้าง แต่ภาพรวมยังคงถูกกดดันจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก รวมถึงนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย โดยมองแนวรับที่บริเวณ 1,760 จุด และแนวต้าน 1,785 จุด

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับลงตามดัชนีดาวโจนส์ที่ดิ่งลงอย่างหนักมากกว่า 1,000 จุดเมื่อคืนนี้ จากความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด

หลังจากนั้นตลาดอาจมีแรงซื้อกลับเข้ามาขานรับปัจจัยภายในประเทศที่เมื่อวานนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก่อนจะประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศตามมา

อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการผ่านร่างกฎหมายอีอีซีดังกล่าว คงเกิดขึ้นในระยะกลางถึงยาว แต่ในช่วงสั้นภาพรวมตลาดยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศกดดันจากประเด็นทิศทางอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติยังขายสุทธิต่อเนื่องในตลาดหุ้นไทย

พร้อมให้แนวรับบริเวณ 1,760 จุด และแนวต้านที่ 1,785 จุด

ประเด็นการพิจารณาการลงทุน

  • ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (8 ก.พ.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,860.46 จุด ร่วงลง 1,032.89 จุด (-4.15%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,581.00 จุด ลดลง 100.66 จุด (-3.75%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,777.16 จุด ลดลง 274.82 จุด (-3.90%)
  • ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 383.12 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 89.20 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 772.06 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 157.51 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 60.89 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 61.06 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 32.63 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 99.20 จุด
  • ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (8 ก.พ.61) 1,786.66 จุด เพิ่มขึ้น 1.22 จุด (+0.07%)
  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,337.31 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 ก.พ.61
  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มี.ค. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (8 ก.พ.61) ปิดที่ระดับ 61.15 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 64 เซนต์ หรือ 1%
  • ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (8 ก.พ.61) ที่ 6.97 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • เงินบาทเปิด 31.85 ทิศทางยังอ่อนค่า มีลุ้นแตะ 32 จับตาตลาดหุ้นไทย-กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย
  • ก.ล.ต.เตรียมเสนอผลการรับฟังความเห็นการกำกับดูแลไอซีโอคาดได้ข้อสรุปมีนาคมนี้ พร้อมอยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องร่วมกับหน่วยงานหลักภายใน 1 เดือน แนะผู้ลงทุนติดตามข้อมูลเป็นระยะ
  • รมว.คลัง เตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน (พ.ร.บ.PPP) ในเร็วๆ นี้ เพื่อเปิดทางให้เอกชนทั้งในและต่างชาติเข้ามายื่นเสนอก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการของรัฐได้เพิ่มเติม เนื่องจากรัฐบาลมีโครงการลงทุนอีกหลายโครงการ และปีนี้เป็นปีแห่งการเริ่มลงทุนโครงการของรัฐจำนวนมาก
  • สนช.โหวตเอกฉันท์ 170 เสียงผ่าน "กฎหมายอีอีซี" ฉลุย ไฟเขียว "รมว.กลาโหม" ร่วมนั่งบอร์ดคุมเศรษฐกิจ ระบุช่วยดูแลพื้นที่ชายแดนและทะเล "วิษณุ" ประกาศรัฐบาลเดินหน้าเต็มตัว ต่อยอดอีสเทิร์นซีบอร์ด "ประยุทธ์" โววางรากฐานเพื่ออนาคต "สมคิด" หนุน ม.ไทยเปิดวิทยาเขต อีอีซี
  • ผอ.สบน. เปิดเผยว่า แผนการบริหารหนี้สาธารณะในปี 61 สบน.จะเน้นการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย เพื่อลดต้นทุน พร้อมกับเร่งชำระคืนหนี้ต่างประเทศที่มีต้นทุนสูงให้และเปลี่ยนมาใช้เงินกู้ภายในประเทศทดแทน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน โดยที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สบน.จึงได้เริ่มคืนเงินกู้ขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้า วงเงิน 3.65 หมื่นล้านบาท และหันมากู้ภายในประเทศแทน ซึ่งแม้ว่าในประเทศจะมีต้นทุนดอกเบี้ยสูงกว่า แต่ก็ปลอดภัยเพราะไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
  • กบง.คาดปีนี้ใช้ไฟสูงสุดที่ 3.1 หมื่นเมกะวัตต์ เผยกำลังปรับแผนพีดีพีให้สอดรับเทคโนโลยีนโยบายรัฐ เตรียมบังคับอาคาร 9 ประเภทออกแบบอาคารเพื่ออนุรักษ์พลังงาน
  • ม.หอการค้าไทย เผยตรุษจีนคึกเงินสะพัด 5.6 หมื่นล้านบาท สูงสุดนับแต่เริ่มสำรวจเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ชี้ประชาชนแห่ซื้อของไหว้-ทำบุญเพิ่มขณะที่วาเลนไทน์ปีนี้ เงินสะพัดสูงสุดเช่นกัน ด้านกรุงเทพมหานครร่วมกับปศุสัตว์ ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการผลิตเนื้อสัตว์ปีก สร้างความมั่นใจผู้บริโภคช่วงตรุษจีน ส่วนบิ๊กซีพีเอฟคาดชุดไหว้ตรุษจีนปีนี้โต 10-15%

*หุ้นเด่นวันนี้

  • ROJNA (เคทีบีฯ) หลังบอร์ดมีมติขายหุ้นทั้งหมด TICON ที่ถืออยู่ทั้งหมด 478.7 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 26.10% ให้กับ "กลุ่มเฟรเซอร์ส" ของ "เสี่ยเจริญ" ในราคาขายหุ้นละ 17.90 บาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.61 ซึ่งข่าวดังกล่าวจะส่งผลบวกต่อผลการดำเนินงานของ ROJNA ปี 61 โดยบริษัทได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นแบบมีเงื่อนไข ในวันนี้ โดยคาดว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิหลังภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 1.39 พันล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.69 บาท
  • SC (ไอร่า) แนะ"ซื้อ"ให้ราคาเป้าหมายปี 61 ที่ 4.50 บาท โดยมีมุมมองเชิงบวกต่อแผนการปรับกลยุทธ ปรับพอร์ต ขยายการพัฒนาลงสู่พื้นที่ใหม่ในเขตต่างจังหวัด พร้อมร่วมมือกับพันธมิตร พัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้า หนุนการเติบโตให้บริษัทมีความแข็งแกร่งในระยะยาว พร้อมคาดผลกำไรสุทธิปี 61 ของ SC จะกลับมาเติบโตโดดเด่น 50% หลังได้รับแรงหนุนจากแผนการส่งมอบ 2 โครงการคอนโดมิเนียมระดับหรู และการขายโอนโครงการแนวราบที่บริษัทถนัด ที่มองจะได้รับกระแสตอบรับที่ดีหลังขยายพอร์ต และปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าให้ทันสมัย
  • LHBANK (เคทีบีฯ) แนะ"ซื้อ"ให้ราคาเป้าหมาย 1.92 บาท ประชุมนักวิเคราะห์วานนี้ตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อปี 61 เพิ่มขึ้น 10-15% YoY (ใกล้เคียงกับคาดที่ 10% YoY) ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่โตได้ดี โดยจะมาจากสินเชื่อรายใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตมากขึ้น ส่วนการเป็น partner กับ CTBC น่าจะเห็น synergy ปลายปี 61 โดยเฉพาะ Trade Finance และ Digital Banking จะช่วยหนุนให้มีสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น แต่เคทีบีฯปรับประมาณการกำไรสุทธิในปี 61 ลง 4% โดยปรับ credit cost เพิ่มขึ้นอีก 10bps จาก IFRS9 ขณะที่คาดว่าการเข้ามาของ CTBC จะส่งผลให้สินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องในระยะยาว ดังนั้น จึงแนะนำ "ซื้อ" แต่เป็นการซื้อเพื่อการลงทุนในระยะยาว เพื่อรอ synergy ที่จะมีจาก CTBC ซึ่งจะเริ่มเห็นผลช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป
  • BIG (กสิกรไทย) แนะ"ซื้อ"ให้ราคาเป้าหมาย 4.70 บาท คาดกำไรไตรมาส 4/60 ที่ 234 ล้านบาท หรือโตขึ้น 78.9% QoQ แต่ลดลง 22.2% YoY เชื่อยอดขายที่สูงขึ้น QoQ จากทั้งยอดขายกล้องและมือถือหนุน ขณะที่การลดลง YoY หลักๆ น่าจะมาจากยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ลดลง แต่คาดจะไม่มีการตั้งสำรองเพิ่มเติมสินค้าล้าสมัยในไตรมาส 4/60 หลังจากที่ได้ตั้งไปแล้ว 14 ล้านบาทในไตรมาส 2/60 ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการเนื่องจากเห็น downside 12.2% ต่อประมาณการกำไรปี 60 ที่ 866 ล้านบาท อิงจากประมาณการกำไรไตรมาส 4/60 ของที่ 224 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ