กลุ่มโรงกลั่นประสานเสียงยันรัฐปรับสูตรคำนวณราคาไม่กระทบ เหตุเจรจาซื้อขายตามสภาพตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 4, 2018 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายจะปรับสูตรการคำนวณราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมันนั้น เบื้องต้นเห็นว่าสูตรราคาหน้าโรงกลั่นดังกล่าวเป็นเพียงราคาอ้างอิงของภาครัฐ ที่ใช้ประกอบในการคำนวณเรื่องภาษี เงินกองทุน ค่าการตลาดน้ำมัน เพื่อให้เป็นราคาน้ำมันขายปลีกสุดท้าย ซึ่งไม่ใช่ราคาบังคับ ขณะที่การขายน้ำมันหน้าโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทเป็นการขายตามสภาพตลาด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดออกมาจากภาครัฐ แต่หากจะปรับสูตรด้วยการตัดค่าพรีเมียมออกไปก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อโรงกลั่น

"สูตรราคาเป็นราคาอ้างอิงเฉย ๆ ไม่ใช่ราคาบังคับ ที่เขาทำเพื่อที่จะได้มี benchmark ในการคำนวณ ภาษี กองทุน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องค่าการตลาด สุดท้ายไม่ใช่ราคาบังคับ...เวลาเราเจรจาขายน้ำมัน เราก็เจรจาตามสภาพตลาดตอนปกติอยู่แล้ว ซึ่งจะมี premium หรือมี discount ก็ขึ้นอยู่กับสภาพตลาด แต่ยังไม่ทราบว่าจะประกาศอย่างไร เพราะ กบง.ยังไม่ได้ประชุม แต่ถ้าถามว่า ณ วันนี้ ปัจจุบันเขายึดการค้าเสรีเป็นหลักอยู่แล้ว และราคาประกาศก็เป็นราคาที่ใช้อ้างอิง ไม่ใช่ราคาควบคุม ในการเจรจาก็เจรจาตามสภาวะตลาด ส่วนจะมีหรือไม่มีผลกระทบนั้นมันไม่ใช่ราคาที่โรงกลั่นขายปกติอยู่แล้ว เพราะราคาปกติคือราคาที่สะท้อนสภาพตลาด ณ วันที่ขาย"นายอธิคม กล่าว

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) กล่าวว่า ปัจจุบันการซื้อขายน้ำมันหน้าโรงกลั่นของบริษัทไม่ใช้สูตรอ้างอิงของรัฐบาล แต่ใช้ราคาอ้างอิงราคากลางที่ตลาดสิงคโปร์ บวกพรีเมียม ขึ้นอยู่กับประเภทของลูกค้า และปริมาณในการซื้อขาย ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ดังนั้น บริษัทก็จะไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับสูตรราคาของภาครัฐครั้งนี้

"เราใช้สูตร MOB สิงคโปร์บวกลบ ส่วนจะบวกเท่าไหร่ก็แล้วแต่ละราย เพราะเป็นกลไกเสรี...ราคาขายของเราต้องถูกกว่านำเข้า และมี discount ให้ ยิ่งถ้าเป็นเทอม contract ซื้อวอลุ่มเยอะ เราไม่ได้อิงสูตรภาครัฐ ตลาดเป็นการแข่งขันกันเสรี"นายสุกฤตย์ กล่าว

นายสุกฤตย์ คาดว่าการปรับสูตรราคาหน้าโรงกลั่นของภาครัฐครั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการคำนวณค่าการตลาดที่เหมาะสม โดยตามสูตรราคาของภาครัฐหากทำให้ราคาหน้าโรงกลั่นลดลง รัฐก็ควรจะเพิ่มค่าการตลาดขึ้นในสัดส่วนเดียวกันด้วย เพราะค่าการตลาดที่รัฐกำหนดอยู่ในปัจจุบันที่ราว 1.50 บาท/ลิตร ได้ใช้มาเป็นเวลา 10-20 ปีโดยยังไม่ได้มีการปรับให้เหมาะสมกับภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป

อนึ่ง คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เป็นประธาน เตรียมจะประชุมเพื่อพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันและค่าการตลาดน้ำมัน ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ เนื่องจากเห็นว่าตลาดค้าน้ำมันสำเร็จรูปตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน เดิมอ้างอิงราคาน้ำมันตลาดสากล (สิงคโปร์) บวกด้วยพรีเมียม เช่น ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งจะมีการยกเลิกการบวกด้วยพรีเมียมออกไปด้วยการปรับโครงสร้างการคำนวณใหม่ และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ศึกษารายละเอียดเรื่องดังกล่าว

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดเผยว่า สำหรับค่าพรีเมียมตามสูตรการคำนวณราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมัน ประกอบด้วย ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ,ค่าขนส่ง และค่าประกันภัย เป็นต้น จากแนวคิดของภาครัฐที่ต้องการปรับสูตรการคำนวณดังกล่าว อาจจะมีการตัดค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ที่ตามสูตรเดิมเป็นมาตรฐานน้ำมันที่ยูโรทรี แต่บวกค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเพื่อให้ได้มาตรฐานน้ำมันที่ยูโรโฟร์ตามข้อกำหนดของภาครัฐ ซึ่งหากตัดค่าพรีเมียมส่วนนี้ออกไป รัฐก็จะต้องปรับสูตรน้ำมันหน้าโรงกลั่นให้สอดคล้องกับมาตรฐานยูโรโฟร์ ที่สิงคโปร์ โดยไม่ต้องมีค่าพรีเมียม ส่วนค่าพรีเมียมที่เป็นค่าขนส่งและค่าประกันภัย ยังไม่มีความชัดเจนว่าภาครัฐจะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยหรือไม่

ส่วนการตัดค่าพรีเมียมการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันออกไปจะกระทบต่อผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับโรงกลั่นนั้นใช้สูตรราคาหน้าโรงกลั่นดังกล่าวในการคำนวณซื้อขายหรือไม่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการปรับสูตรใหม่ก็อาจจะกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก เพราะภาครัฐคงไม่ได้ตัดพรีเมียมออกอย่างเดียว แต่จะต้องปรับสูตรให้อ้างอิงตามมาตรฐานยูโรโฟร์ ซึ่งมีราคาแพงกว่าน้ำมันตามมาตรฐานยูโรทรี

ทั้งนี้ การปรับสูตรราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นก็จะส่งผลกระทบต่อค่าการตลาด และราคาขายปลีกน้ำมันในท้ายที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ