TMB ยันแข่งฟรีค่าธรรมเนียมไม่กระทบ คงเป้ารายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยปีนี้โต 15-20% จากตัวแทนนายหน้าขายประกัน-กองทุนหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 17, 2018 10:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการเดินหน้าสร้างผลการดำเนินงานปีนี้ให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะมีการแข่งขันสูงทั้งในส่วนของการให้สินเชื่อและการบริการด้านการทำธุรกรรมแก่ลูกค้า ที่ล่าสุดธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในอุตสาหกรรมได้ยกเลิกค่าธรรมเนียมการให้บริการโอนและจ่ายให้กับลูกค้าผ่านช่องทางการทำธุรกรรมดิจิทัลแล้ว ซึ่งในส่วนของ TMB ไม่ได้รับผลกระทบในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมดังกล่าว เนื่องจากธนาคารเป็นรายแรกที่ยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรรกรรมทุกช่องทางมานานแล้ว

ธนาคารยังคงเป้าหมายรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในปี 61 เติบโต 15-20% ซึ่งรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของธนาคารส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการเป็นตัวแทนนายหน้าขายประกัน ที่เป็นพันธมิตรกับบริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (FWD) และรายได้จากการเป็นตัวแทนขายกองทุนรวม ซึ่งทำให้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของธนาคารมีการเติบโตได้ดี ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยคิดเป็น 30% ของรายได้ทั้งหมด และมีโอกาสที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

"เราดีใจที่คนไทยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในหมวดที่ไม่จำเป็น ซึ่ง TMB ถือเป็นธนาคารรายแรกที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมในส่วนของการทำธุรกรรมทางการเงินการโอนและจ่ายมานานแล้ว ซึ่งเราก็ไม่สามารถไปห้ามธนาคารอื่นไม่ให้ทำตามเราได้ แต่ก็มองว่าเป็นการทำในสิ่งที่ดีให้แก่ลูกค้า แต่ก็ยังมีบางธุรกรรมที่ธนาคารอื่นๆยังไม่ยกเลิกค่าธรรมเนียมให้ทั้หมด เช่น การกดเอทีเอ็ม และการนำฝากเช็คของธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่ง TMB ยกเลิกค่าธรรมเนียมไปแล้ว ตอนนี้ TMB ก็ยังมุ่งมั่นตามคอนเซ็ป Make the difference ในการผลักดันและมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าและการบริการต่างๆให้ดียิ่งขึ้น"นายปิติ กล่าว

นายปิติ กล่าวว่า เป้าหมายของธนาคารมีความตั้งใจที่จะทำให้ประชาชนไทยตระหนักถึงการออมและการลงทุน เพื่อรองรับในช่วงวัยเกษียณอายุ เพราะปัจจุบันประชาชนไทยส่วนมากมีเงินออมไม่เพียงพอรองรับในช่วงวัยเกษียณ และไม่ค่อยมีการลงทุนเพื่อทำให้เงินที่ออมไว้สร้างผลตอบแทนกลับคืนมา

ในการผลักดันในเรื่องดังกล่าว TMB ได้มีการสนับสนุนงานด้านที่ปรึกษาทางการลงทุน (Advisory) เข้ามาช่วยให้คำปรึกษาลูกค้าในแง่ของการเลือกลงทุนในกองทุนต่าง ๆ ที่ธนาคารจัดหาจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เป็นพันธมิตรกับธนาคารจำนวน 8 บลจ.ในปัจจุบัน และจะเพิ่มเป็น 10 บลจ.ภายในกลางปีนี้

พร้อมกับขยายศูนย์ Advisory Center ในช่วงกลางปีนี้เพิ่มอีก 100-120 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 30 สาขา พร้อมกับการเพิ่มฟังก์ชั่นการจัดพอร์ตการลงทุนที่เรียกว่า Auto Smart ในแอพพลิเคชั่น TMB TOUCH ในช่วงกลางปีนี้เช่นเดียวกัน โดยผลิตภัณฑ์กองทุนรวมจะเข้ามาช่วยต่อยอดผลิตภัณฑ์การออมของธนาคาร

นายปิติ กล่าวอีกว่า ในแง่ของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ที่เติบโตขึ้นจากการนำเข้า-ส่งออกที่มีการเติบโตดี ทำให้มีปริมาณการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น และส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจเทรดไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นตาม

ด้านการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในปีนี้ยังคงเป้าหมายสินเชื่อเติบโต 8-10% แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยจะยังไม่เติบโตดี จากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่ยังไม่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นมากนัก ทำให้ความต้องการสินเชื่อยังมีไม่มากนัก อีกทั้งการกระจายรายได้ยังไม่ส่งผ่านไปถึงประชาชน ทำให้กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวกลับมา ส่งผลกระทบต่อกลุ่มสินเชื่อที่ธนาคารได้กลับมาเน้นมากขึ้น คือ กลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่ยังเห็นการชะลอตัวอยู่ในไตรมาส 1/61 เพราะการลงทุนของรัฐและเอกชนยังไม่ออกมามาก และกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่กลับมาดี ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัย เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้กลุ่มเอสเอ็มอีกลับมาฟื้นตัวได้ดี คาดว่าทั้ง 3 ปัจจัยจะเริ่มดีขึ้นและเห็นผลในไตรมาสต่อไป และหนุนให้กลุ่มเอสเอ็มอีกลับมาฟื้นตัว และทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีกับมาดีขึ้นตาม

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของมาตรการจากภาครัฐที่ยังมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการลดอัตราดอกเบี้ย มองว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยให้เฉพาะในบางกรณี เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพ และลงทุนเครื่องจักร ที่เข้ามาเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาวให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งธนาคารเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีและพร้อมที่จะสนับสนุน

ทั้งนี้ ในส่วนของสินเชื่อบ้าน ที่ยังคงเป็นปัจจัยผลักดันสินเชื่อของธนาคารในไตรมาส 1/61 นั้น ยังมีความต้องการสินเชื่ออยู่มาก เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และแต่ละธนาคารก็มีการแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยในช่วง 3 ปี ทำให้เป็นจังหวะลูกค้าที่ซื้อบ้านเข้ามาขอสินเชื่อในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และสามารถล็อกอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงแรกของซึ่งเป็นช่วงที่มีจำนวนเงินในการผ่อนชำระสูง และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีการเติบโตอยู่ แต่เป็นกลุ่มสินเชื่อที่ธนาคารไม่ค่อยเน้นมากนัก เพราะเป็นสินเชื่อที่ให้มาร์จิ้นน้อย

ขณะที่แนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อใก้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้จะยังมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากสิ้นปีก่อนที่ 2.35% ซึ่งเป็นการลดลงมาจากปี 59 ที่ 2.52% จากเร่งแก้ปัญหาสินเชื่อด้วยการตัดจำหน่ายหนี้สูญ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยให้ NPL ลดลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับสถานการณ์ของภาวะ NPL ของธนาคารและระบบได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและเริ่มทยอยลดลงตั้งแต่ในไตรมาส 3/60 และไตรมาส 4/60 ตามหลังภาวะเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และ NPL ของกลุ่มเอสเอ็มอีเริ่มลดลง จากการะมัดระวังการปล่อยสินเชื่อและการเข้าไปแก้ปัญหาให้กับลูกค้า

นอกจากนี้ธนาคารยังมุ่งเน้นการบริการความเสี่ยงด้านการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ต้นทุนความเสี่ยง (Risk cost) ในปีนี้จะลดลงมาอยู่ที่ 1.4% จากปีก่อน 1.5% ประกอบกับการลดความเสี่ยงเชิงลบและเพื่อให้ฐานะการเงินมีความมั่นคง ธนาคาร และการรักษาระดับอัตราการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Coverage Ratio) ในระดับที่สูง 143% ทำให้สะท้อนการดำเนินธุรกิจและการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ

ทั้งนี้ ธนาคารมีความต้องการในการรักษาและเพิ่มอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ในระยะยาวเป็น 14-15% จากปัจจุบันอยู่ที่ 10% แม้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เพิ่มขึ้น เพราะหลายๆธนาคารในประเทศไทยก็มี ROE ที่ลดลงตามกัน เพราะปัญหาต้นทุนและค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ยังอยู่ในระดับสูง และการแข่งขันของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ก็สูงขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นจะต้องมีการปรับโครงสร้างค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และหันมาใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อทำให้ ROE อยู่ในระดับมากกว่า 10% เพราะผู้ถือหุ้นจะพิจารณาในส่วนของ ROE ประกอบเพื่อต้องการผลตอบแทนที่ดี หาก ROE ต่ำกว่า 10% จะส่งผลให้ความน่าสนใจในการลงทุนลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ