IEC ใช้เงิน 100 ลบ.ซื้อหุ้นเพิ่มในโรงไฟฟ้า SK1 ส่งผลถือหุ้นเพิ่มเป็น 100%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 31, 2016 09:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (IEC) แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้อนุมัติให้บริษัทเข้าลงทุนในโครงการเข้าดำเนินกิจการโรงไฟฟ้า SK 1 ทั้งหมด โดยเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ไออีซี สระแก้ว 1 จำกัด (SK 1) เพิ่มอีกจำนวน 25% เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาท ที่ราคาพาร์หุ้นละ 100 บาท จำนวน 1 ล้านหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นการซื้อที่มีความเหมาะสม จากปัจจุบันที่ถืออยู่ 75% ส่งผลให้บริษัทกลายเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทดังกล่าว โดยคาดว่าจะเข้าทำรายการไม่เกินไตรมาส 3/59

เนื่องจากมองว่าโรงไฟฟ้า SK 1 จะมีรายได้เพิ่มขึ้น หลังได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนการขายไฟฟ้าจากระบบ Adder มาเป็นระบบ Feed-in Tariff FiT (FiT) จะส่งผลให้รายได้ของ SK 1 เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 7 ล้านบาท/เดือน ตลอดอายุโครงการที่เหลือระยะเวลาประมาณ 16 ปี 10 เดือน

ทั้งนี้ SK 1 ได้รับการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าในระบบ Adder ที่ปัจจุบันมีราคารับซื้อไฟฟ้าในระบบ Adder เฉลี่ยที่ 3.20 บาท/หน่วย ซึ่งผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากภาคเอกชนต่างประสบปัญหาการขาดทุนอันเนื่องมาจากการไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จึงได้พิจารณาที่จะประกาศเปลี่ยนแปลงจากระบบ Adder เป็นระบบ FiT ซึ่งจะมีผลให้ราคารับซื้อไฟฟ้าเท่ากับ 4.54 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้นจากระบบ Adder 1.34 บาท/หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 41% โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ วันที่ 11 มี.ค 59 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรอทำสัญญาเปลี่ยนจากระบบ Adder เป็น FiT

กรณีของ SK 1 ซึ่งได้รับอนุญาตผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในระบบ Adder นั้นได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วเมื่อวันที่ 10 เม.ย.56 เป็นต้นมา รวมเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี 2 เดือน นับจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหากได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนการขายไฟฟ้ามาเป็นระบบ FiT ก็จะทำให้รายได้ของ SK 1 เพิ่มขึ้นดังกล่าว

สำหรับแหล่งเงินลงทุนที่จะใช้ในการซื้อหุ้น SK 1 เพิ่มอีกจำนวน 25% นั้นจะมาจากกเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

IEC ระบุว่าการเข้าซือ้หุ้นเพิ่มใน SK 1 เป็น 100% นั้นจะทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิของโครงการสูงขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้ต้นทุนต่ำลงแต่ในขณะที่กำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 8 เมกะวัตต์ เช่นเดิม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ