Special Audit เผย EARTH หนี้งอกหลังคู่ค้าจีน-อินโดฯฟ้องค่าเสียโอกาสไม่ได้ส่งบ.ย่อย-บ.ร่วมทุนเข้าตลาดหุ้นฮ่องกง-แนสแด็กซ์

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 12, 2017 19:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ในฐานะ Special Audit รายงานข้อเท็จจริงที่พบเกี่ยวกับการปฏิบัติตามวิธีที่ตกลงร่วมกันเกี่ยวกับที่มา ความมีอยู่ และสถานะของประมาณการหนี้สินที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 26,000 ล้านบาท ของ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ตามที่บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 24 ก.ค.60

พบว่า “รายงานสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับประมาณการหนี้สินที่คาดว่าจะเกิดขึ้น" ที่จัดทำขึ้นโดยบริษัท ยอดรวมมูลค่าหนี้ที่ถูกฟ้องมีจำนวน 36,972,796,142 บาท ซึ่งผู้บริหารประมาณว่าในที่สุดแล้วความเสียหายที่ต้องชดใช้ไม่น่าจะเกิน 70% ของมูลค่าหนี้ทั้งหมดข้างต้น ซึ่งจะเท่ากับ 25,880,957,299 บาท จึงเป็นที่มาของประมาณการหนี้สินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 26,000 ล้านบาทที่บริษัทใช้ยื่นเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สินทั้งหมดเพื่อขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง

ทั้งนี้ พบว่า EARTH มีหนี้สินส่วนหนึ่งที่ยังไม่เคยได้มีการบันทึกบัญชีในงบการเงินไตรมาส 1/60 เป็นหนี้ที่เกิดจากคู่ค้าในประเทศจีนและอินโดนีเซีย โดยเป็นคดีฟ้องร้อง โดยคดีที่มีกับคู่ค้าในจีน ได้แก่ คดีที่ โจทก์ คือ บริษัท เทียนจิน โบไท จงซิน เทรดดิ้ง จำกัด (BOTAI) ฟ้องจำเลย คือ EARTH หรือ EECL ข้อหาหรือฐานความผิด ผิดข้อตกลง เรียกค่าเสียหาย และค่าเสียโอกาสจำนวนทุนทรัพย์ 12,600,000,000 บาท

คดีที่ โจทก์ บริษัท เจียงซู กวางรัน เทรดดิ้ง จำกัด (JSGR) ข้อหาหรือฐานความผิด ผิดข้อตกลง , ค่าเสียหาย , ค่าเสียโอกาส จำนวนทุนทรัพย์ 11,200,000,000 บาท และ คดีที่โจทก์ นายหลิน ตง ไห่ จำเลย คือ EECL ข้อหาหรือฐานความผิด ผิดข้อตกลง เรียกค่าเสียหาย และค่าเสียโอกาสจำนวนทุนทรัพย์ 2,975,000,000 บาท

โจทก์ทั้ง 3 รายระบุว่า EECL มีบริษัทย่อยชื่อ บริษัท กวางตุ้ง เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (GECL) จัดตั้งและประกอบกิจการในสาธารณรัฐประชาชนจีน และ EECL เป็นหนี้อันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 1 เม.ย.58 โจทก์ทั้ง 3 ได้เจรจาและเข้าทำบันทึกข้อตกลงกับ EECL มีข้อตกลงแบ่งแยกความรับผิดต่อกัน ดังนี้ โจทก์ทั้ง 3 ราย ตกลงให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ และให้การสนับสนุนเกี่ยวกับกิจการของ GECL เพื่อให้ GECL นำถ่านหินไปผลิตแปรรูป และจำหน่ายให้กับลูกค้าของ GECL และตกลงถ่ายทอดวิธีการทางการค้า กลุ่มลูกค้า แหล่งที่มาของถ่านหิน และวิธีดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหินในสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ GECL ทั้งหมด ขณะที่ EECL ตกลงว่าจะนำ GECL เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงด้วยการสนับสนุนด้านการเงิน

ภายหลังจากทำบันทึกข้อตกลงกันแล้วโจทก์ทั้ง 3 รายได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงโดยให้ความช่วยเหลือ GECL ทำให้ GECL มีรายได้ในการประกอบกิจการจากถ่านหินปีละหลายพันล้านบาท ต่อมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีคำสั่งห้าม EECL ทำการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนและขึ้นเครื่องหมาย SP เป็นเหตุให้ EECL ไม่สามารถให้การสนับสนุน GECL ด้านการเงิน การทำธุรกรรมต่างๆ และไม่สามารถนำ GECL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้ EECL จึงกระทำผิดข้อตกลงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

โจทก์อ้างว่าบันทึกข้อตกลงกำหนดไว้ว่า หากเกิดกรณีที่เล็งเห็นว่าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่อาจปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงและรายละเอียดแห่งข้อตกลงและสัญญาประกอบ หรือมีเหตุปัจจัยที่ส่อแสดงว่าจะเกิดการผิดข้อตกลง คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดข้อตกลงต้องรับผิดชดใช้เป็นเงินทุนที่ชำระและลงทุนไปแล้ว ค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาส และค่าความคุ้มค่าแห่งการลงทุนซึ่งคิดคำนวณได้จากเงินทุนที่จ่ายไปจริง แนวโน้มราคามูลค่าหุ้น ณ วันที่ GECL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง

การคำนวณค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาส ให้อาศัยหลักเกณฑ์ราคาหุ้นทั้งแรกเข้าและแนวโน้มราคาหุ้นในตลาดตามที่คาดการณ์ว่าควรจะเป็น โดยอาศัยสมมุติฐานจากดัชนีของราคาตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงมาเป็นหลักเกณฑ์คำนวณ ซึ่งหาก GECL เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงแล้ว จะมียอดขายจากการประกอบกิจการมากกว่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ โจทก์ทั้ง 3 ราย จึงขอคิดค่าใช้จ่ายที่ได้ลงทุนไปแล้ว ค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาส และค่าความคุ้มค่าแห่งการลงทุน ตามมูลค่าที่ได้เรียกร้อง

ขณะที่กระบวนการต่างๆ ที่จะนำบริษัทไปสู่กระบวนการฟื้นฟู พบว่า มีหนังสือทวงถามหนี้จาก BOTAI ลงวันที่ 3 ก.ค.60 และเอกสารคำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ พ.1346/2560 ลงวันที่ 13 ก.ค.60 และหมายเรียกคดีแพ่งสามัญ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ลงวันที่ 13 ก.ค.60 นัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์ วันที่ 9 ต.ค.60 เวลา 9.00 น.

และมีหนังสือทวงถามหนี้จาก JSGR ลงวันที่ 3 ก.ค.60 และเอกสารคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ พ. 1347/2560 ลงวันที่ 13 ก.ค.60 และหมายเรียกคดีแพ่งสามัญศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ลงวันที่ 13 ก.ค.60 นัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์วันที่ 9 ต.ค.60 เวลา 9.00 น.

รวมทั้ง มีหนังสือทวงถามหนี้จาก Mr. Lin ลงวันที่ 3 ก.ค.60 และเอกสารคำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ พ.1415/2560 ลงวันที่ 20 ก.ค.60 และหมายเรียกคดีแพ่งสามัญศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ลงวันที่ 20 ก.ค.60 นัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์ วันที่ 16 ต.ค.60 เวลา 9.00 น.

ส่วนคดีที่มีกับคู่ค้าในอินโดนีเซีย เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.1416/2560 วันที่ฟ้อง 20 ก.ค.60 โจทก์ คือ บริษัท อมาเซน พีทีอี จำกัด (AMAZAN) จำเลย คือ EECL ข้อหาหรือฐานความผิด ผิดข้อตกลง เรียกค่าเสียหาย ค่าเสียโอกาสจำนวนทุนทรัพย์ 5,500,000,000 บาท

ทั้งนี้ AMAZEN ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.58 AMAZEN และ EECL ทำบันทึกร่วมกันตกลงที่จะร่วมทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยการจัดตั้ง บริษัท อะลาดิน โฮลดิ้ง จำกัด ขึ้นที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และ AMAZEN เข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 20 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ส่วน EECL เข้าถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 80 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และจดทะเบียนตั้งบริษัท อะลาดิน จำกัด ในประเทศอินโดนีเซีย จำกัด โดยให้บริษัท อะลาดิน โฮลดิ้ง จำกัด เข้าถือหุ้นในบริษัท อะลาดิน จำกัดจำนวน 100 เปอร์เซ็นต์

ต่อมาวันที่ 10 ก.ค.58 AMAZEN และ EECL จึงทำสัญญาความร่วมมือทางการค้ากันว่า AMAZEN เป็นผู้จัดหาแหล่งเหมืองแร่ถ่านหิน จัดหากลุ่มลูกค้าเพื่อขายถ่านหิน บริหารจัดการบริษัท อะลาดิน จำกัด ส่วน EECL จะเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุน จัดหาพื้นที่เพื่อใช้สำหรับเป็นที่พักสินค้าถ่านหินดำเนินการขนส่งถ่านหินจากเหมืองไปบรรทุกลงเรือ จัดทำเว็ปไซต์สำหรับการขายออนไลน์ถ่านหินจัดตั้ง บริษัท อะลาดิน จำกัด ที่ประเทศอินโดนีเซีย และนำบริษัท อะลาดิน โฮลดิ้ง จำกัดเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ แนสแด็กซ์ด้วยการสนับสนุนด้านการเงิน

ภายหลังจากทำสัญญากันแล้ว AMAZEN ได้จัดหาแหล่งเหมืองแร่ถ่านหิน จัดหากลุ่มลูกค้า และเตรียมความพร้อมที่จะบริหารจัดการ บริษัท อะลาดิน จำกัด แต่ EECL ปฏิบัติผิดข้อตกลง คือ ไม่ได้จัดหาแหล่งเงินทุน ไม่ได้จัดหาพื้นที่สำหรับเป็นที่พักสินค้าถ่านหิน ไม่ดำเนินการขนส่งถ่านหินจากเหมืองไปบรรทุกลงเรือ ไม่จัดทำเว็บไซต์ ไม่จัดตั้งบริษัท อะลาดิน จำกัด

นอกจากนี้ ตลท.มีคำสั่งห้าม EECL ทำการซื้อขายหลักทรัพย์และถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เป็นเหตุให้ EECL ไม่สามารถให้การสนับสนุนด้านการเงินและนำบริษัท อะลาดิน โฮลดิ้ง จำกัด เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้ การที่ EECL กระทำผิดสัญญาความร่วมมือทางการค้าทำให้AMAZEN ได้รับความเสียหาย EECL ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายค่าเสียโอกาส และค่าความคุ้มค่าแห่งการลงทุนให้แก่ AMAZEN ซึ่งหากบริษัท อะลาดิน โฮลดิ้ง จำกัด เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้ บริษัท อะลาดิน จำกัด จะมีมูลค่าทางการตลาดไม่น้อยกว่า 28,000 ล้านบาท AMAZEN ถือหุ้นในบริษัท อะลาดิน โฮลดิ้ง จำกัด จำนวนร้อยละ 20 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ AMAZEN ลงทุน ค่าเสียหายค่าเสียโอกาส ค่าขาดประโยชน์ และค่าขาดความคุ้มค่าในการลงทุน

ทั้งนี้ มีหนังสือทวงถามจาก AMAZEN ลงวันที่ 30 มิ.ย.60 และเอกสารคำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ พ.1416/2560 ลงวันที่ 20 ก.ค.60 และหมายเรียกคดีแพ่งสามัญศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ลงวันที่ 20 ก.ค.60 นัดชี้สองสถานและกำหนดแนวทางการดำเนินคดีหรือสืบพยานโจทก์ วันที่ 16 ต.ค.60 เวลา 13.30 น.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ