JMART แจงแผนขาย JFin Coin คาดได้รับเงินภายใน Q1/61,ยันไม่เกิด Dilution Effect คงสิทธิถือหุ้น JVC ตามเดิม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 14, 2018 08:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.เจ มาร์ท (JMART) แจ้งแผนการออกเสนอขายดิจิทัล โทเคน ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (Initial Coin Offering: ICO) ของบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดยได้ปรับปรุง White Paper สำหรับการออกดิจิทัลโทเคน "JFin Coin" ฉบับเผยแพร่ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561

โดยในส่วนของผลกระทบต่อ JMART นั้น แนวทางการอธิบายผลกระทบต่อบริษัท จะยังคงขึ้นอยู่กับมาตรฐานบัญชี ผู้สอบบัญชี และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง ICO ในอนาคต ซึ่งบริษัทจะต้องปฎิบัติตามมาตรฐานบัญชีที่มีขึ้นต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น บริษัทถือหุ้นใน JVC ในสัดส่วนร้อยละ 80 บริษัทจึงต้องจัดทำงบการเงินรวมในฐานะที่ JVC เป็นบริษัทย่อย ในกรณี JVC ออกเสนอขาย JFin Coin ได้สำเร็จ โดยมีช่วงการเสนอขาย Presale ระหว่างวันที่ 14 – 28 กุมภาพันธ์ 2561 และเสนอขาย ICO ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 31 มีนาคม 2561

การเสนอขายดังกล่าวทำให้บริษัทได้รับเงินสดเข้ามาในบัญชีของบริษัท ด้วยจำนวนระดมทุน 100 ล้านโทเคน ที่ราคา 6.60 บาทต่อโทเคน เงินสดภายหลังหักค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จะถูกบันทึกเป็นสินทรัพย์ของ JVC ตามมูลค่าเงินสุทธิที่ได้รับ (เดบิต เงินสด) และ JVC จะลงบันทึกหนี้สินเพิ่มขึ้นด้วยรายการเงินรับล่วงหน้า (Deferred Revenue) (เครดิต เงินรับล่วงหน้า) ซึ่งบริษัทจะรับรู้รายได้ต่อเมื่อระบบได้พัฒนาแล้วเสร็จ และผู้ที่ถือ JFin โทเคน เข้ามาใช้ระบบ โดยการรับรู้เป็นรายได้เป็นงวดเดียว ณ วันที่ระบบได้พัฒนาแล้วเสร็จ หรือทยอยตัดรับรู้รายได้ ยังอยู่ระหว่างการหารือ และมาตรฐานบัญชีที่เกี่ยวข้องในอนาคต

ภายหลังจากการพัฒนาระบบเสร็จสิ้นบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ค่าจ้างค่าแรง ค่าบำรุงรักษาระบบ ค่าเสื่อมราคาของระบบ และอาจมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การระดมทุนดังกล่าวบริษัทจะได้รับเงินสดภายในไตรมาส 1 หรือหากการระดมทุนเสร็จสิ้นในช่วงเสนอขาย ICO บริษัทจะต้องรอการเคลียร์ลิ่งเงินเพื่อโอนให้กับบริษัท บริษัทจะได้รับเงินในช่วงต้นเดือนเมษายน 2561 ซึ่งเงินที่เข้าบัญชีจะเป็นเงินสกุลไทยบาท ซึ่งรายการดังกล่าวคาดว่าจะปรากฎภายในงบการเงินไตรมาส 1/2561

ทั้งนี้ บริษัทยังคงถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 80 ในบริษัท JVC เนื่องจากบริษัทเสนอขายดิจิตัลโทเคน มิได้ทำให้เกิด Dilution Effect ใน JVC และสำหรับในด้านสิทธิบริษัทยังคงมีสิทธิในหุ้นของ JVC เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ในด้านภาระผูกพันนั้น บริษัท และ JVC Coin ไม่มีภาระต้องชำระคืนเงินระดมทุนให้กับผู้สนับสนุน หากบริษัทไม่สามารถพัฒนาระบบที่แจ้งไว้ในเอกสาร White Paper แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามบริษัท และ JVC ในฐานะบริษัทย่อย มุ่งหวังที่จะดำเนินตามแผนการดำเนินงานที่ได้แสดงไว้ในเอกสาร White Paper โดยแผนการดำเนินงานดังกล่าวขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ และการกำกับที่เกี่ยวข้อง

ผู้ถือโทเคนที่ผู้สนับสนุนร่วมซื้อไปไม่สามารถนำ JFin โทเคนกลับมาคืนเป็นเงินปกติ หรือ Fiat Money ได้ ซึ่งวิธีในการแปลงสภาพคล่องของโทเคน คือ การนำไปซื้อขายในตลาดรองที่ยอมรับของ JFin Coin

สำหรับแผนดำเนินการของการพัฒนาระบบมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ช่วงเวลา ไตรมาส 3 หรือ 4 ปี 2561 พัฒนาระบบเสร็จสิ้น Credit Scoring (E-KYC, E-Consent,สินเชื่อดิจิตัล) ,ไตรมาส 1 ปี 2562 พัฒนาระบบเสร็จสิ้น Blockchain และ Smart Contacts ,ไตรมาส 2 ปี 2562 พัฒนาระบบเสร็จสิ้น E-Wallet และ Crypto-Wallet , ไตรมาส 4 ปี 2562 พัฒนาระบบเสร็จสิ้น JFin P2P Lending System , ไตรมาส 1 ปี 2563 พัฒนาระบบเสร็จสิ้น Big Data Analysis และ AI Machine Learning และกลางปี 2563 เริ่มนำเอาระบบไปใช้ในต่างประเทศ โดยมีแผนจะพัฒนาระบบ Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) เสร็จสิ้นภายในปี 2563

ด้านความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ ความเสี่ยงทางด้านกฎเกณฑ์ และกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ทราบดีว่ากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ Blockchain และ ICO ยังไม่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ในอนาคตหากมีกฎเกณฑ์ และการกำกับควบคุมในที่เกี่ยวข้องอาจส่งผลต่อ Smart Contact หรือ JFin โทเคนในอนาคต และบริษัทยินดีที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวในอนาคต

ความเสี่ยงมูลค่าของ JFin โทเคน เนื่องจาก JFin โทเคน จะนำไปซื้อขายในตลาดรองที่ยอมรับ JFin โทเคน ซึ่งการซื้อขายในตลาดรอง ราคาของ JFin โทเคน จะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของ JFin โทเคน ในอนาคต ส่วนความเสี่ยงอื่นๆ ยังไม่อาจทราบได้ในปัจจุบัน

ในด้านของผลต่อกลุ่มบริษัทอื่นในด้านการประกอบธุรกิจ จะพบว่าในเอกสาร White Paper ฉบับเผยแพร่หน้า 15 ว่าในกรณีที่เกิดหนี้สงสัยจะสูญขึ้นจะเกิดการติดตามหนี้ขึ้นมาทันที ซึ่งในประเด็นนี้บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทอาจเข้ามาให้บริการติดตามหนี้สงสัยจะสูญนี้ หากรายการการเข้ามาให้บริการติดตามหนี้สงสัยจะสูญเข้าข่ายเป็นการทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยง บริษัทจะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวในอนาคต

สำหรับแผนการลงทุนใน JFin โทเคนในอนาคตของบริษัทนั้น ในเอกสาร White Paper ชี้แจงไว้ว่า JVC ได้จัดสรร JFin โทเคนร้อยละ 23.34 หรือ 70 ล้านโทเคน ให้ขายเฉพาะ (Private Sale) ให้กับบริษัท และบริษัทย่อย ซึ่งแบ่งเป็นร้อยละ 6.67 หรือ 20 ล้านโทเคน ซึ่งจะขายเฉพาะให้กับบริษัทได้จนกว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2561 และร้อยละ 16.67 หรือ 50 ล้านโทเคน ซึ่งจะขายเฉพาะให้กับบริษัทได้จนกว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้ การพิจารณาซื้อโทเคนดังกล่าวจะพิจารณาจากผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น หากการซื้อโทเคนในอนาคตได้เข้าเกณฑ์การได้มาซึ่งสินทรัพย์ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยง โดยจะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวในอนาคต

ด้านแผนการใช้เงินจากการเสนอขายดิจิทัลโทเคนนั้น ตามเอกสาร White Paper ฉบับเผยแพร่ล่าสุดวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ได้ชี้แจงรายละเอียดของแผนการใช้เงินจากการออกเสนอขายดิจิทัลโทเคน ดังนี้ ร้อยละ 75 สำหรับการนำไปพัฒนาระบบ (Platform Development) เพื่อประโยชน์ต่อผู้ถือโทเคน ซึ่งหมายรวมถึงการลงทุนพัฒนาระบบ Blockchain, Credit Scoring, Crypto-Wallet, Big Data Analysis, Mergers and Acquisitions, การพัฒนาทรัยากรมนุษย์ เป็นต้น

ร้อยละ 20 สำหรับการบริหาร การจัดการ การวิจัย และการออกโปรแกรมทางการตลาด และร้อยละ 5 สำหรับการใช้ในกิจกรรมอื่นๆ กฏหมาย และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

JMART ระบุถึงสิทธิประโยชน์ที่ผู้สนับสนุน JFin Coin จะได้รับ และลักษณะประเภทของดิจิทัลโทเคนที่เสนอขาย โดยจากเอกสาร White Paper ฉบับเผยแพร่ล่าสุดวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 บริษัทย่อยได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงสิทธิประโยชน์ที่ผู้สนับสนุนจะได้รับ โดยจากข้อมูลหน้าที่ 15 ของ White Paper ฉบับเผยแพร่ ย่อหน้าที่ 2 ระบุว่า ภายใต้ระบบ DDLP ประมาณการณ์การแบ่งค่าธรรมเนียม ซึ่งระบุไว้ใน White Paper ว่ามีอัตราที่ประมาณไม่เกินร้อยละ 3 ของมูลค่าธุรกรรม (ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของธุรกิจ และระบบนิเวศน์ของระบบ (Ecosystem) เป็นต้น) ประมาณร้อยละ 15-30 ของค่าธรรมเนียม สำหรับระบบ JFin Decentralized Network (Blockchain) ซึ่งค่าธรรมเนียมที่แบ่งส่วนนี้ผู้ที่เป็น Chain Validator จะได้รับไปในรูปแบบของโทเคนซึ่งจะมีระบบแปลงค่าผ่านตลาดรองด้วยระบบที่ราคา JFin โทเคน ณ วันนั้น

ขณะที่อีกส่วนประมาณ ร้อยละ 70 – 85 ของค่าธรรมเนียมสำหรับ JFin DDLP Platform ซึ่งส่วนแบ่งนี้จะได้รับเป็นเงินบาท โดยผู้รับคือบริษัทย่อยอย่างไรก็ตาม การแบ่งส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อันเนื่องจากความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และระบบนิเวศน์ของระบบ (Ecosystem)

ผู้ที่เกี่ยวข้องหลักในระบบ DDLP ในระบบมีสิทธิประโยชน์ดังต่อไปนี้ 1) ผู้ที่เป็นผู้ให้กู้ ภายในระบบ Blockchain จะเป็นผู้จัดหาเงินกู้ให้โดยจะได้รับค่าตอบแทนเป็นดอกเบี้ยบนเงินกู้ที่ปล่อยกู้ 2) ผู้ที่เป็นผู้กู้ จะต้องผ่านกระบวนการ KYC เพื่อพิสูจน์ตัวตน และสร้าง E-Wallet และสามารถเข้ามาขอกู้ในระบบ DDLP 3) ผู้ที่เป็นผู้สอบทานระบบ หรือ Chain Validator ด้วยกลไกของระบบ Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) ที่พัฒนาด้วยระบบ Blockchain ซึ่งใช้กลไก Proof of Stake นั้น ผู้ถือดิจิตัลโทเคนที่ประสงค์ที่จะเป็นผู้สอบทานธุรกรรมบนระบบ Blockchain หรือ Chain Validator จะได้รับดิจิตัลโทเคน ในฐานะที่เข้ามาทำงานเป็น Validator ในสัดส่วนร้อยละ 15-30 ทั้งนี้ภายในระบบ Proof of Stake นั้นจะมีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการจัดสรรแบบสุ่ม (Random) อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ถือดิจิทัลโทเคน ไม่ประสงค์ที่จะเป็น Chain Validator จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใด ๆ จากการถือดิจิทัลโทเคน JFin

นอกจากนี้ สำหรับประโยชน์ของผู้ถือโทเคน อีกประการหนึ่ง คือ โทเคนที่ถือสามารถซื้อขายในตลาดรองได้ ซึ่งปัจจุบันคือ ตลาด TDAX โดยราคาของโทเคนจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์ และอุปทานของโทเคน ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าใช้ระบบ DDLP ทั้งผู้กู้ และผู้ขอกู้ จะต้องมี JFin โทเคนเพื่อนาเข้าสู่ระบบ DDLP เพื่อนำ JFin โทเคน มาใช้เป็นค่าธรรมเนียมสำหรับระบบที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมต่าง ๆ เช่น E KYC, Credit Scoring หรือ e-Wallet เป็นต้น

ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่เข้ามาสนับสนุน JFin โทเคน คือ ในกรณีที่บริษัทย่อยไม่สามารถพัฒนาระบบ DDLP ได้เสร็จสิ้นผู้ถือโทเคนจะไม่ได้รับเงินคืนใด ๆ และบริษัทได้ระบุใน White Paper ว่า ICO นี้จะยกเลิกหากออกเสนอขายได้น้อยกว่า 30 ล้านโทเคน (Soft Cap) โดยหากออกเสนอขายไม่สำเร็จบริษัทจะคืนเงินให้กับผู้ที่สนับสนุนต่อไปอย่างเร็วที่สุด และผู้ถือ JFin โทเคน จะไม่ได้รับเงินคืนใดในกรณีที่บริษัทย่อยปิดชาระกิจการ

สำหรับลักษณะประเภทของดิจิทัลโทเคนที่เสนอขายนั้น ยังไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ ออกมาตีความว่า ดิจิตัลโทเคน ที่เสนอขายนั้นเป็นแบบ Utility Token หรือ Security Token ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการศึกษาแนวทางจากหน่วยงานที่มีหน้าที่กากับดูแล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ